คอลัมนิสต์

ฟังเรื่องไซอิ๋วจากศิลาจารึกราชวงศ์ถัง


6 กุมภาพันธ์ 2024, 22:05 น.

 

ฟังเรื่องไซอิ๋วจากศิลาจารึก
ไปศึกษาจารึกราชวงศ์ถัง
จารึกครั้งพันกว่าปีที่มีอยู่
เป็นหลักฐานของเก่าเขาให้ดู
เพื่อจะรู้ประวัติศาสตร์ของชาติจีน
เรื่องพระ “ถังซัมจั๋ง” ครั้งยังหนุ่ม
หลายแง่มุมของพระดีที่เคร่งศีล
สู่อินเดียไม่ง่ายต้องป่ายปีน
เดินด้วยตีนข้ามภูผาหาคัมภีร์

 

 

พระอาจารย์ดุษฎี เมธงฺกุโร ให้เขียนเรื่องพระถังซัมจั๋ง พระจีนในสมัยราชวงศ์ถังที่ไปสืบพระพุทธศาสนาไปเอาคัมภีร์พระไตรปิฎกในประเทศอินเดีย แล้วนำไปเผยแพร่ที่จีนตามที่มีในหนังสือเรื่องไซอิ๋วของไทย เรื่องนี้มีการเขียนเป็นสารคดีชื่อ พระถังซัมจั๋ง โดย นายเคงเหลียน ศรีบุญเรือง เคยอ่านนานมาแล้ว (ปัจจุบันมีผู้เอามาพิมพ์ใหม่) ท่านบอกว่าน่าจะมีคณะทัวร์นำจาริกตามรอยพระถังซัมจั๋งกันอีก

 

ผมเคยอ่านเรื่องพระถังซัมจั๋ง (เป็นราชทินนามที่แต่งตั้งโดยกษัตริย์จีน แปลว่าพระไตรปิฎกแห่งราชวงศ์ถัง) ฉบับของนายเคงเหลียน ศรีบุญเรือง ทำให้อยากรู้อยากเห็น เมื่อไปจีนได้มีโอกาสไปดูศิลาจารึกและเจดีย์บรรจุกระดูกของท่าน ครั้งนั้นได้ไปดูวัดหลายแห่ง ตั้งแต่ปักกิ่ง ซีอาน เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง สัมภาษณ์พระหลายรูป กลับมาได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ไปดูกิจการพระพุทธศาสนาในเมืองจีน” ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ เดิมจะใช้ชื่อ พุทธศาสนาในเมืองจีน แต่ไปซ้ำกับชื่อบทความของท่าน บ.ช.เขมาภิรัต อาจารย์ที่ผมเคารพจึงไม่ได้ใช้ชื่อนั้น

 

หนังสือเล่มนี้ ท่านเจ้าคุณพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (เย็นเต็ก) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณาราม เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายกรุณาเขียนคำนำให้ อาจารย์เสฐียร พันธรังษี ราชบัณฑิตเขียนคำวิจารณ์ให้ ท่านบอกว่ามีโอกาสควรไปตามเส้นทางที่พระถังซัมจั๋งเคยไปและเขียนใหม่เพิ่มเติมเรื่องพระถังซัมจั่ง พระโพธิธรรม (ตั๊กม้อ) ให้หนังสือหนากว่านี้ จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ ๔๐ ปีแล้ว ผมก็ไม่ได้ทำตามฝัน เมื่อมาฟังท่านอาจารย์ดุษฎีย้ำเรื่องนี้อีกทำให้คิดถึงคำแนะนำของอาจารย์เสฐียรในครั้งนั้น ปัจจุบันนี้ทางการจีนได้สร้างทางด่วนจรดภูเขาหิมาลัยตามเส้นทางที่พระถังซัมจั๋งเคยเดินทางด้วยเท้าและม้าแล้ว ทำให้น่าไปมาก แต่ก็เหมือนที่สุภาษิตไทยที่ว่า “เจอไม้งาม เมื่อขวานบิ่น” อายุเป็นเงื่อนไขสุขภาพไม่อำนวยแถมมีโรคโควิดระบาดอยู่ทั่วไปชาตินี้คงหมดโอกาสแน่ พบได้เพียงแค่เห็นต้นทางที่เมืองซีอานและปลายทางคือมหาวิทยาลัยนาลันทาที่อินเดียเท่านั้น

 

ขออภัยที่คำกลอนใช้คำว่า ตีน ซึ่งสมัยนี้ถือกันว่าหยาบไปหน่อย เมื่อเขียนถึงคำว่า ศีล คำที่ใช้สัมผัสได้ก็มี ตีน จีน ปีน เท่านั้น เคยอ่านเรื่องพระอภัยมณีท่านสุนทรภู่เขียนถึงชีเปลือยว่า “ประหลาดใจใยหนอไม่นุ่งผ้า จะเป็นบ้าแล้วหรือว่าถือศีล หนวดถึงเคราเข่าถึงนมผมถึงตีน ฝรั่งจีนแขกไทยก็ใช่ที”

 

ผมสุนทรทู่ (ทู่ แปลว่าไม่คม เป็นภาษาปักษ์ใต้ ถ้าภาษากลางใช้คำว่า ทื่อ เช่นมีดที่ไม่คมเรียกว่ามีดทื่อ) กลอนไม่คม ขออภัยด้วยครับ

 

อรุณ เวชสุวรรณ

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดคอลัมนิสต์

เรื่องล่าสุด