ข่าวประชาสัมพันธ์

สกสว.ถ่ายทอดเรื่องเล่างานวิจัยสู่ละครโทรทัศน์ ให้ประชาชนรู้ถึงประวัติศาสตร์ในมุมมองใหม่


6 เมษายน 2022, 17:16 น.

 

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีเสวนา “เรื่องเล่าจากงานวิจัยสู่ละครโทรทัศน์” ในงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย (TRIUP Fair 2022) เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์ในมุมมองใหม่ ๆ ตลอดจนผลักดันให้เกิดการสนับสนุนและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของไทย

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า สกสว.ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนงบประมาณงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ไม่น้อยไปกว่าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากองค์ความรู้มีส่วนเสริมสร้างคุณค่าของมนุษย์ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งของสังคมชุมชนอย่างยั่งยืน งานวิจัยจำนวนไม่น้อยมีการค้นคว้าข้อมูลและเรื่องราวประวัติศาสตร์เชิงลึก ส่งผลให้สร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพ สามารถจำลองภาพและสถานการณ์ที่เสมือนจริงและจุดประกายจินตนาการได้อย่างมาก ขณะเดียวกันงานวิจัยก็ต้องการช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงประชาชนได้ง่าย ดังตัวอย่างการถ่ายทอดคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมและมุมมองเรื่อง “ประวัติศาสตร์ไทย-พม่า” ผ่านละครโทรทัศน์ เพื่อให้สังคมไทยเห็นถึงสายสัมพันธ์ของผู้คนและวัฒนธรรมของสองประเทศที่มีมาช้านาน จึงเป็นที่มาของการจัดเวทีเสวนา “เรื่องเล่าจากงานวิจัยสู่ละครโทรทัศน์” ในงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย (TRIUP Fair 2022) ซึ่งจะทำให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์ในมุมมองใหม่ ๆ ตลอดจนผลักดันให้เกิดการสนับสนุนและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของไทย

นายสมยศ เกียรติอร่ามกุล ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์เนื้อหา สถานีโทรทัศน์ Thai PBS เปิดเผยว่า สถานีมีนโยบายตั้งใจผลิตละครที่สะท้อนคุณค่าและประเด็นบางอย่างในสังคม เช่น ความเหลื่อมล้ำ สังคมสูงวัย ความเป็นไทย ที่ต้องบรรจุไว้นอกจากความบันเทิง รวมถึงสนใจเรื่อง soft power ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้และสื่อสารไปต่างประเทศได้ด้วย อีกทั้งให้ความสำคัญกับการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมทั้งคนพิการและภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษาเพื่อนบ้าน เพื่อจะได้เสพงานศิลป์ได้อย่างดี “ปรากฏการณ์ของละครเรื่องจากเจ้าพระยาสู่อิรวดีให้อะไรกับเรามาก กระตุ้นความสนใจของคนในสังคม ชุดข้อมูลประวัติศาสตร์ที่บางครั้งเราอาจหลงลืมและสงสัย จึงนับเป็นคุณูปการที่ละครเรื่องนี้ได้สร้างขึ้นจากการสืบค้น วิจัย และค้นหาข้อเท็จจริง นอกจากนี้ละครยังมุ่งหมายให้สะเทือนไปถึงมายาคติบางอย่างที่มีต่อเพื่อนบ้าน แม้ละครจบไปแล้วแต่ทีมงานยังเดินสายไปพูดคุยเรื่องวัฒนธรรม ข้อมูลทางวิชาการ เป็นสิ่งที่คนสังคมร่วมกันทำขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ให้เกิดขึ้น”

ขณะที่นายชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับละครจากเจ้าพระยาสู่อิรวดี เผยถึงความสำคัญของงานวิจัยว่าต้องการนำข้อมูลมาใช้ในการทำละคร เพื่อให้เห็นเค้าโครงของอดีตที่ย้อนเวลากลับไปไม่ได้ และเห็นช่องว่างที่จะสามารถเพิ่มเติมเข้าไป การทำละครประเทศเพื่อนบ้านต้องมีข้อมูลที่เป็นจริง จึงต้องหาที่ปรึกษาที่จะพาไปให้เจอข้อมูลที่รู้สึกได้จริงถึงศิลปะที่เป็นวัฒนธรรมร่วมให้เข้าถึงจิตวิญญาณ และใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการเก็บข้อมูลต่าง ๆ การทำวิจัยต้องลงลึกและนำไปต่อยอดได้ ถ้าคนดูชอบจะย้อนกลับไปค้นหาสิ่งที่ลึกซึ้งเอง ทั้งนี้เมื่อเราเข้าถึงชุมชนและประเทศเพื่อนบ้านจะเห็นความเป็นพี่น้องและสัมผัสถึงความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นพลังที่ดีและนำมาใช้ได้จริง ไม่ใช่งานที่ขึ้นหิ้งและเป็นพื้นฐานที่จะทำให้งานจับใจคน ที่ผ่านมายังไม่มีงานที่ปลดล็อกความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อพม่า เราพูดถึง soft power ในระดับชาติกันมาก แต่เราต้องให้ความเคารพเพื่อนมนุษย์ด้วย

สำหรับมุมมองของนักวิจัยนั้น รศ. ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ รองคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุว่าประเทศพม่าเป็นสนามของการวิจัยที่น่าสนใจมาก เพราะมีมิติทางวัฒนธรรมที่ซับซ้อน ส่วนตัวแล้วมีความสนใจเรื่องสถาปัตยกรรมและได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกสว.ในปัจจุบัน) จนสามารถเก็บข้อมูลได้เนื้อหาและภาพพอสมควรที่ผู้กำกับนำไปใช้ต่อยอดในการทำงานได้ ประวัติศาสตร์ชาตินิยมในอดีตบังตาทำให้ที่ผ่านมาเราไม่ได้พยายามทำความเข้าใจเพื่อนบ้านมากนัก ตลอดจนปัญหาภายในประเทศของพม่าในอดีต ทำให้งานศึกษาวิจัยมีจำนวนไม่มาก สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ต้องหาจรณัมทางวิชาการของตนเอง จึงถือว่าเป็นสนามที่เต็มไปด้วยโอกาสสำหรับการเรียนรู้ เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าองค์ความรู้ที่ค้นพบจะถูกใช้ต่อยอดในวันใด ด้วยโลกที่ผันผวน ซับซ้อน เปลี่ยนแปลงเร็วนั้น เราจึงต้องมีองค์ความรู้จำนวนมากเพื่อรอคอยการใช้ประโยชน์และการแก้ปัญหา การสนับสนุนการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยขั้นแนวหน้าจึงมีความจำเป็นมาก  “หน้าที่สำคัญที่สุดของนักวิจัย คือ การหมกมุ่นลุ่มหลงและอุทิศตนในการวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในศาสตร์ของตนเองที่ยังพร่องขาดอย่างดิ่งลึก สร้างตนให้เชี่ยวชาญจนมีความลึกซึ้งและเป็นเลิศทางวิชาการ การต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ในแง่มุมต่าง ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้หากในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้รับการส่งเสริมและเปิดกว้างในการทำวิจัย ในการทำงานเราใช้วิธีที่ทันสมัยเพื่อทำความเข้าใจและบันทึกข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติไว้อย่างละเอียดลออให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อนักวิจัยทำหน้าที่ของตนให้ถึงที่สุด ผลิตงานที่มีคุณภาพ และถ้าสื่อสารกับสาธารณชนได้กว้างขวางด้วยก็จะยิ่งดี การต่อยอดในหลากแง่มุมจะตามมา ซึ่งตนขอฝาก สกสว.ให้ช่วยส่งเสริมกลไกการเชื่อมประสาน เตรียมเปิดพื้นที่ให้กับการสร้างความรู้ใหม่ทางวิชาการคู่ขนานไปกับงานวิจัยที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหา และเฟ้นหามืออาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญในแง่มุมต่าง ๆ มาช่วยกันมองว่าจะต่อยอดผลงานวิจัยเหล่านี้ให้พลิกแพลงไปสร้างมูลค่าอย่างไรต่อไปในอนาคต”

ขณะที่ อ.อานันท์ นาคคง ศิลปินศิลปาธร สาขาดนตรี ประจำปี 2562 และอาจารย์ประจำคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ดนตรีเป็นสื่อที่เปลี่ยนไปตามเวลา คนและสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เป็นศิลปะบริสุทธิ์ที่ต้องแปลงร่างใหม่ ข้อมูลจากการวิจัยภาคสนามซึ่งเป็นกระบวนการวิจัยที่สำคัญมาก ทำให้มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเราได้ทำฮาร์โมนี่ใหม่และสื่อสารกับทีมงานให้เป็นการแสดงศิลปะที่ไม่มีเงื่อนไขของศาสนาและระบบครอบครัว จินตนาการอยู่เหนือทุกสิ่ง ประกอบกับการถ่ายภาพและแสงของทีมงานที่เก่ง จึงทำให้ฉากในละครถูกกล่าวขานเป็นอย่างมาก
“องค์ความรู้เกี่ยวกับการเล่าเรื่องของมนุษย์ การกำกับภาพ ดนตรี ล้วนแล้วแต่กว้างขวางมาก เราต้องช่วยกันทำงานให้เกิดแพลตฟอร์มของคนที่สนใจศิลปะหลากหลาย เป็นการทดลองที่มีความรู้ลึกมากและมั่นใจว่าอยู่ในสื่อที่คนนับล้านที่เสพงานจะมีอารมณ์ร่วมและช่วยกันโอบอุ้ม จึงอยากให้นักวิจัยคิดถึงคนปลายทางว่าเราจะสนทนากับใคร ละครจะเป็นพื้นที่ที่น่าตื่นเต้นหากให้ทีมวิจัยมีโอกาสได้ผลิตสิ่งเหล่านี้ต่อไป และได้ดูละครร่วมกันเพื่อปลดปล่อยความทุกข์ ซึ่งตนอยากให้คนที่สัมผัสกับละครเรื่องนี้ได้เดินทางต่อ”

เช่นเดียวกับนายยุทธนา อัครเดชานัฏ ประธานสาขานาฏยศาสตร์และการแสดง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และหัวหน้ากลุ่มศิลปินคิดบวกสิปป์ ที่กล่าวว่าสิ่งสำคัญของละครเรื่องนี้คือการนำการแสดงมาเล่าเรื่องผ่านท่ารำ โดยเฉพาะบทอัศจรรย์รักที่สื่อสารถึงความรัก ซึ่งได้หารือกับผู้กำกับละครเพื่อออกแบบท่ารำให้ยังคงความรู้สึกนั้นอย่างเต็มที่ จากการวิจัยพบว่านาฏศิลป์พม่ามีท่ารำแตกต่างจากที่เราเห็น จึงต้องออกแบบให้เข้ากับนาฏศิลป์ไทยอย่างลงตัว และเชื่อมโยงกับศาสตร์ของท่ารำสมัยกรุงศรีอยุธยา ละครเรื่องนี้มีองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันได้หลายมุม ตนอยากให้สนับสนุนและสร้างงานให้เกิดขึ้นต่อไป เพื่อทำศิลปะละครเชิงรุกและยกระดับสังคมได้มากยิ่งขึ้น

************

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดข่าวประชาสัมพันธ์

เรื่องล่าสุด