กระทรวง อว. โดย GISTDA จัด School Satellite ให้เด็กไทยทดลองสร้างดาวเทียม
“ศุภมาส” ชี้เป็นกิจกรรมให้เยาวชนได้เรียนรู้ ฝึกทักษะจากทีมวิศวกรสร้างดาวเทียมของไทย ปูทางปั้นบุคลากรด้านกิจการอวกาศให้ประเทศ ลดการพึ่งพาต่างชาติ
เมื่อวันที่ 17-20 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) โดยกองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดการแข่งขัน การสร้างดาวเทียมสำหรับเยาวชนไทยภายใต้โครงการ “School Satellite” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสในการลงมือปฏิบัติจริงเกี่ยวกับการสร้าง ประกอบ และทดสอบดาวเทียมร่วมกับทีมวิศวกรดาวเทียมของ GISTDA ที่ผ่านประสบการณ์จากการมีส่วนร่วมออกแบบและพัฒนาดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2A ซึ่งกิจกรรม School Satellite ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ตอบโจทย์นโยบายสำคัญในการสร้างบุคลากรด้านกิจการอวกาศให้กับประเทศ โดยมีทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 10 ทีม ทั้งจากระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษา เข้าร่วมติวเข้ม ณ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ (AIT) อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และวังจันทร์วัลเลย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจะได้นำความรู้ไปสร้างแรงบันดาลใจและต่อยอดการทำงานด้านอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยต่อไป
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “School Satellite” เป็นโครงการที่ อว. ต้องการสร้างเยาวชนให้มีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอวกาศ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่กำลังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามแผนการพัฒนาที่ อว. ได้วางไว้ นักเรียนและนักศึกษาที่ร่วมโครงการ School Satellite จะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะ และการวางแผนการทำงานของดาวเทียมอย่างเป็นระบบ รวมถึงได้รับการปลูกฝังแนวคิดการทำงานอย่างมืออาชีพในรูปแบบการทำงานเป็นทีม โดยภารกิจที่น่าสนใจในโครงการ School Satellite คือการนำบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปที่หาได้ง่ายตามท้องตลาดมาเป็นอุปกรณ์ดาวเทียม เพื่อให้นักเรียนและผู้ที่สนใจเข้าถึงเทคโนโลยีดาวเทียมได้ มี payload หลักคือ กล้องถ่ายภาพ เพื่อใช้บันทึกภาพขณะปฏิบัติภารกิจ นอกจากนี้ผู้เข้าแข่งขันยังสามารถเลือกใช้ secondary payload เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันได้เสนอความคิดการทำภารกิจเสริมให้สอดคล้องตามภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมาย โดยกระทรวง อว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนและนักศึกษาที่สนใจเรื่องของเทคโนโลยีอวกาศ ได้เรียนรู้และฝึกทักษะอย่างถูกต้องจากทีมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างดาวเทียมของไทยเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนอนาคตของประเทศด้านอุตสาหกรรมอวกาศให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและทัดเทียมกับนานาประเทศ
ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การสร้างดาวเทียมเป็นภารกิจหลักที่ GISTDA มุ่งมั่นที่จะพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมา วิศวกรดาวเทียมของไทยภายใต้โครงการ THEOS-2 ได้เข้าไปมีส่วมร่วมในการออกแบบและพัฒนาดาวเทียม THEOS-2A ซึ่งดำเนินการร่วมกับบริษัท Surrey Satellite จากสหราชอาณาจักร นอกจากความมุ่งมั่นในการสร้างดาวเทียมให้สำเร็จแล้ว ทีมวิศวกรดาวเทียมยังให้ความสำคัญด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับบุคลากรระดับหน่วยงาน หรือบุคลากรทั่วไปที่มีความสนใจด้านเทคโนโลยีอวกาศได้เข้ามาเรียนรู้ถึงกระบวนการและวิธีการสร้างดาวเทียม รวมถึงการทดสอบระบบการทำงานของตัวดาวเทียมจากศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และในวันนี้กระทรวง อว. โดย GISTDA ขยายโอกาสผ่านโครงการ School Satellite ให้เยาวชนได้เข้ามาเรียนรู้และฝึกสร้างดาวเทียมโดยมีวิศวกรดาวเทียมของไทยเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเราได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 69 ทีม ขณะนี้เราคัดเหลือทีมที่เข้ารอบสุดท้ายจำนวน 10 ทีม โดยทีมที่เข้ารอบสุดท้ายนี้จะได้ร่วมศึกษา ออกแบบ สร้าง Platform ดาวเทียม และสามารถปรับเปลี่ยน Payload รวมถึง Sensor ได้ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้ อีกทั้งยังได้เรียนรู้การประยุกต์ใช้โครงสร้างการทำงานของซอฟแวร์ตามมาตรฐานการออกแบบดาวเทียมที่ใช้จริงในอวกาศ รวมถึงการประกอบและทดสอบระบบดาวเทียม ก่อนจะทดลองนำส่งด้วยโดรนในระดับความสูงประมาณ 700 เมตร ที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง และนอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมและให้ความสำคัญกับเยาวชน โดย เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา คณะรองเลขานายกรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เข้าเยี่ยมชมและให้กำลังใจน้องๆ ในการติวเข้มและแข่งขันในช่วงระหว่างการปฏิบัติการประกอบโครงสร้างดาวเทียมและการทดสอบระบบการทำงานของโปรแกรมดาวเทียมอีกด้วย
สำหรับ ผลการแข่งขัน “School Satellite” ทีมชนะเลิศในระดับมัธยมศึกษาคือ ทีม “แค่ฝุ่นมันเข้า Mars” จากโรงเรียนกําเนิดวิทย์ รองชนะเลิศ คือ ทีม “คอนโดดังย่านศาลายาข้าง ม.มหิดล” จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และทีมชนะเลิศในระดับอุดมศึกษาคือ ทีม “SKYLINE” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม รองชนะเลิศคือ ทีม “ใครไม่มา บรูโน่ Mars” จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีรางวัล Popular Vote ได้แก่ ทีม “Mars-Ranger” จากโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี และรางวัลขวัญใจ Social ได้แก่ ทีม “แค่ฝุ่นมันเข้า Mars” จากโรงเรียนกําเนิดวิทย์ ทั้งนี้ ทีมที่ชนะเลิศและทีมที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการส่งเสริมและต่อยอดในโครงการอื่นๆ ในระดับชาติและนานาชาติต่อไป อาทิ โครงการ KIBO / ROBOTIC เป็นต้น นับเป็นการเตรียมความพร้อมในการสร้างบุคคลากรพร้อมใช้ให้กับประเทศ อนาคตเยาวชนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจการอวกาศของประเทศไทยโดยฝีมือคนไทยอย่างแน่นอน ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว