การเมือง

“ทวี” ร้อนตัว หลัง “วัชระ” ยื่น ปปช. สอบ ม.157 จริยธรรม ให้ปลัด ยธ.ตอบ โยนอุนจิราชทัณฑ์ 


18 มกราคม 2024, 16:15 น.

 

“ทวี” ร้อนตัว หลัง “วัชระ” ยื่น ปปช. สอบ ม.157 จริยธรรม ให้ปลัด ยธ.ตอบ โยนอุนจิราชทัณฑ์ 

 

นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตามที่ได้ยื่นหนังสือถึงนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองกับพวก มีพฤติการณ์หรือการกระทำปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตเอื้อประโยชน์กับ นช.ทักษิณ ชินวัตร และผิดประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือไม่ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 นั้นปรากฏว่า

 

ผมได้รับหนังสือจากกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 ที่ ยธ 02019/485 ความว่า ตามหนังสือร้องทุกข์ของผู้ร้อง ฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ผู้ร้องได้มีหนังสือเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กรณีนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ถูกส่งตัวออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ณ โรงพยาบาลตำรวจ จนเกิดเป็นกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม ปัจจุบันครบกำหนด 120 วัน ตามกำหนดของกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 แล้ว จึงมีความประสงค์ขอให้ระงับการส่งตัวนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ไปคุมขังนอกเรือนจำ และขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ซึ่งอาจเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงขอให้เปิดเผยรายงานของกรมราชทัณฑ์ที่รายงานถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและภาพถ่ายของนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ที่พักรักษาตัวอยู่ภายนอกเรือนจำให้ประชาชนทราบต่อไป ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

 

ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมพิจารณาแล้วโดยความเห็นชอบของปลัดกระทรวงยุติธรรมขอเรียนว่า กรณีเรื่องร้องเรียนของผู้ร้องเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ร้อง จึงได้ส่งเรื่องไปยังกรมราชทัณฑ์เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป หากผลการพิจารณาดำเนินการเป็นประการใด กรมราชทัณฑ์จักได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบโดยตรง ซึ่งผู้ร้องสามารถติดตามผลการดำเนินการได้ที่ กรมราชทัณฑ์ เลขที่ 222 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 โทร. 0 2967 2222

 

ทั้งนี้หนังสือฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นายวัชระได้ยื่นหนังสือถึงนายทวีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 5 ข้อคือ

1. ปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ “อำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม” และพันธกิจ ข้อ 3 “เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม” แต่ยุคท่านทวี สอดส่อง ยิ่งเหลื่อมล้ำไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายแต่ประการใด กลับหย่อนยานและเอื้อประโยชน์ให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร

 

2. นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหมายเลข 6650102668 ไม่ได้กรอกแบบประวัติ ร.ท.101 แบบประวัตินักโทษ จำนวน 4 หน้า ในฐานข้อมูลแม้แต่บรรทัดเดียว ไม่ลงรายละเอียดเหมือนนักโทษทั้ง 4 แสนราย นช.ทักษิณ ไม่ได้ให้ข้อมูล เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยก็ไม่กล้าถามยังไม่ได้สอบประวัติ ไม่ได้ทำตามขั้นตอนแต่ประการใดจึงขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เจ้าพนักงานทะเบียนเรือนจำพิเศษกรุงเทพ (ขอให้กันข้าราชการชั้นผู้น้อยไว้เป็นพยาน)

 

3. ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการกรมราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ที่ทำรายงานเท็จและช่วยเหลือ นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษไม่ต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำแต่อ้างว่าไปรักษาพยาบาลนอกเรือนจำ (ขอให้กันข้าราชการชั้นผู้น้อยไว้เป็นพยาน)

 

4. ขอสำเนารายชื่อพัศดีทั้งหมดพร้อมลายเซ็นและภาพถ่ายตามที่นายนัทที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพซึ่งได้ให้ถ้อยคำกับคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ว่ามีภาพถ่าย นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษที่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจทุก 2 ชั่วโมง ขอให้เปิดเผยภาพถ่ายและให้ระงับยับยั้งการที่จะส่งตัว นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษไปคุมขังนอกเรือนจำเพราะมีการทำรายงานเท็จมาตั้งแต่ต้น

 

5. ขอให้เปิดเผยรายงานกรมราชทัณฑ์ที่รายงานถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและภาพถ่าย นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษพักรักษาตัวอยู่นอกเรือนจำครบ 120 วันเพื่อเปิดเผยให้ประชาชนทราบด้วย

 

นายวัชระ กล่าวว่า แต่ปรากฏว่านายทวีไม่ตั้งคณะกรรมการสอบข้าราชการกรมราชทัณฑ์ตามที่นายวัชระร้องเรียนแต่อย่างใด หนังสือที่สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมตอบมานั้นไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่ตรงไปตรงมาเพราะคำถามที่ผมใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญถามรัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรมนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี และยิ่งการให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการกรมราชทัณฑ์เป็นอำนาจของกระทรวงโดยตรง การส่งไปเรื่องไปให้กรมราชทัณฑ์จึงมิใช่เป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ร้องตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าวอ้างแต่อย่างใด

 

นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรมจึงควรทบทวนในเรื่องนี้ต้องเป็นข้าราชการมืออาชีพ อย่าตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่มามีอำนาจชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

 

นายวัชระ กล่าวว่า นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไม่ต้องให้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ตอบหนังสือผมแก้เกี้ยว เพราะประชาชนคาใจกันทั้งประเทศ ว่าทำไมนักสร้างสันติภาพของท่านถึงไม่ติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว ป่วยทิพย์? เอื้อประโยชน์กันหรือไม่ แต่ควรเตรียมเอกสารไปชี้แจงกับ ปปช. ในอนาคตจะดีกว่า ทั้งข้อกฎหมายและจริยธรรมร้ายแรง และเรื่องนี้ต้องจบที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบไม่ใช่จบที่กรมราชทัณฑ์อย่างแน่นอน

 

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดการเมือง

เรื่องล่าสุด