คอลัมนิสต์

รมต. กับ รอง ผบก.


10 มกราคม 2024, 12:58 น.

 

<รมต. กับ รอง ผบก.>

 

ปี พ.ศ. 2550 ผมเป็นรอง ผบก.ภ.จว.อุบลราชธานี อุบลฯ เป็นจังหวัดใหญ่ มี ส.ส. สิบกว่าคน มาจากสี่พรรคการเมือง เคยเป็น รมต. กันหลายคน

 

วันหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2552 ผบก. ให้ผมเป็นตัวแทน ไปพบกับ รมต. คนหนึ่ง ณ ที่ทำการพรรค ตั้งอยู่กลางเมืองอุบลฯ

 

ในห้องโถงนั้น มีบุคคลหลากหลายอาชีพ มากหน้าหลายตา ที่สังเกตุเห็น มีนายตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาผมหลายคน ทราบว่ารู้จักเป็นการส่วนตัวกับ รมต. นายทหาร ฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น หัวคะแนน มีครบ

 

เมื่อ รมต. มานั่งที่เก้าอี้หน้าโต๊ะกลางห้องโถง ก็พูดจาปราศรัย ทักทายทุกคน การพูดจาเป็นทำนอง ขอความร่วมมือในการทำงานร่วมกับภาคการเมือง เพื่อบริการประชาชนซึ่งเป็นสิ่งที่ดี

 

แต่ระหว่างพูด ๆ ไปนั้น มีครั้งหนึ่งมองมาทางผม แล้วพูดว่า <รองฯ ไอยศูรย์ ที่ผ่านมาก็เกือบโดนย้ายนะ> แล้วไม่พูดอะไรต่อ

 

ทั้งจังหวัดอุบลฯ ตำรวจรู้ดี ทหารรู้ดี ฝ่ายปกครองรู้ดี ท้องถิ่นรู้ดี ชาวบ้านร้านช่องรู้ดี ต่างก็รู้ดีว่า

 

ผมเป็นตำรวจที่ประสานกับมวลชนเสื้อหลากสี ทั้งแดง เหลือง และเขื่อนสิรินธร ได้ผลเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ทุกครั้ง จนกระทั่งมีนายตำรวจระดับเดียวกับผม พูดว่า <เมื่อไหร่พี่จะพลาดบ้างนะ ?>

 

การที่ รมต. พูดถึงผมสั้น ๆ แบบนี้ ก็คิดได้หลายมุมมอง

 

ผมอาจคิดว่า ตัวเองทำถูกต้อง แต่ก็อาจไม่ถูกใจบางคน

 

หรือว่าผมอาจจะทำไม่ถูกต้องและไม่ถูกใจเลยก็ได้ ก็แล้วแต่จะคิดกันไป

 

เพราะเวลาที่มีนักการเมืองระดับ นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี มาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ ผมจะได้รับมอบหมายให้เป็นคนประสานกำหนดกรอบการชุมนุมให้กับกลุ่มมวลชน

 

ดังเช่นกรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นรม. ไปงานศพยายเนียม พันธุ์มณี ที่ อ.ม่วงสามสิบผมประสานมวลชน

 

<ไม่ควรมีการชุมนุม เพราะเป็นเรื่องวัฒนธรรมประเพณี>

 

มวลชนก็ไม่มีการชุมนุม

 

หรือตอนที่ นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข มาประชุม อสม. ที่ ม.ราชภัฏอุบลราชธานี ผมก็ประสานมวลชน

 

<ให้สามารถชุมนุมได้ โดยสงบแบบต่างคนต่างทำหน้าที่>

 

นายวิทยา ปฏิบัติภารกิจในห้องประชุมไพรพยอม ด้านนอกห้องประชุม แค่มีถนนในมหาวิทยาลัยกั้น กลุ่มมวลชนก็ชุมนุมกันไปโดยไม่มีเหตุรุนแรงหรือปะทะกันแต่อย่างใด

 

ย้อนกลับมาในห้องประชุม เมื่อมีช่วงโอกาสพูด ผมมองไปที่ รมต. พูดช้า ๆ แบบเน้นเสียง เน้นคำ ว่า

 

<ผมขอพูดตรง ๆ นะครับ ผมเป็น <ตำรวจ> ผมเป็นกลางทางการเมือง ผมไม่ฝักใฝ่ พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง ใครทำดี ผมก็ชื่นชม ใครทำไม่ดี ผมก็ไม่ชอบ

 

ผมออกพื้นที่ ไปพบปะและบรรยายเรื่องที่ควรรู้ให้ชาวบ้านฟังบ่อยๆ สมมติว่า ท่านทำความดี มีประโยชน์ต่อส่วนรวม ผมก็จะบอกชาวบ้านว่า ท่านทำดีเรื่องอะไร ? เป็นโชคดีของชาวบ้าน ที่มี ส.ส. ดี มี รมต. ดี อยู่ในพื้นที่

 

แต่ถ้าท่านทำไม่ดี ทำไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะ ถ้าท่านทำผิดกฎหมายอาญา ผมก็ต้องดำเนินคดีกับท่าน จับกุมท่าน
เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายครับ>

 

สิ้นเสียงพูดของผม รมต. มองมาที่ผม ทุกคนที่นั่งอยู่ ต่างก็มองมาที่ผม มีทั้งหันหน้า เหลียวหน้า กลับหลังหันมาดูหน้าผมก็มี

 

หน้าผมคงน่าดูไม่ใช่เล่น จึงได้สนใจกันขนาดนี้

 

ไม่มีเสียงพูด ไม่มีการเคลื่อนไหว ต่างคนก็คงต่างคิด

 

เพราะสิ่งที่ผมพูด คงไปกระทบความรู้สึกใครหลายคน หลายอาชีพที่พากันล้อมหน้าล้อมหลัง รมต. คนดัง

 

หลังจากการประชุมวันนั้นผมได้พบเจอกับ รมต. จนกระทั่งเป็นอดีต รมต. อีกหลายครั้ง ในหลายสถานที่ ท่านก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายกันกับผมดี และยังเคยติดต่อขอให้ผมประสานกับมวลชนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลช่วงที่ นายอภิสิทธิ์ นรม. ลงพื้นที่หลายอำเภอในอุบลฯ เพื่อหาเสียงเลือกตั้งด้วย

 

แบบช็อตต่อช็อต ชั่วโมงต่อชั่วโมง ตามสถานการณ์ที่พลิกแพลง เปลี่ยนแปลงไป ตลอดเวลา

 

สำหรับเรื่องที่ผม <เกือบโดนย้าย> <เป็นเรื่องจริง> ครับ

 

อยู่ในดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาไม่เกี่ยวกับการเมือง

 

<เมื่อเทวดาจะมาหมาก็จำต้องไป>

 

แต่บังเอิญหมาตัวนี้เห่าเสียงดัง ก็เลยได้อยู่ต่อ

 

ผมเป็น รอง ผบก. ที่อุบลฯ จนถึงปี พ.ศ. 2555 จึงได้ย้ายไปเป็น รอง ผบก. ภ.จว.ชัยภูมิ

 

พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท

 

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดคอลัมนิสต์

เรื่องล่าสุด