<ผู้ว่าราชการจังหวัด>
<ม็อบปิดถนน>
<ตำรวจ>
น่าจะประมาณ พ.ศ.2551 ผมเป็น รอง ผบก.ภ.จว. อุบลราชธานี รับผิดชอบงานความมั่นคงและกิจการพิเศษ กับงานสอบสวน เป็นคนเจรจา สร้างความเข้าใจกับมวลชน ทุกกลุ่ม ทุกสี ทุกพรรค ทุกพวก
วันหนึ่ง ขณะที่ผมกำลังร่วมประชุม กับ ผบก.ฯ รอง ผบก.ฯ และ หน.สภ.ฯ ที่ห้องประชุมของ ภ.จว.ฯ
ปลัดอำเภอซึ่งเป็นเลขาฯ ผวจ. อุบลราชธานี โทรศัพท์มาหาผม บอกว่า <พี่อยู่ไหนครับ ? ตอนนี้มีม็อบปิดถนนแยกวารินฯ-เดชอุดม รถติดมาก ผู้ว่าฯ กำลังเจรจาอยู่ บอกให้ผมแจ้งพี่ไปด่วน>
ผมตอบปลัดฯ เลขาผู้ว่าฯ <พี่ประชุมอยู่แต่จะรีบไปด่วนเดี๋ยวนี้>
ผมบอกเหตุการณ์ที่ฟังมา ให้ ผบก.ฯ ทราบ พร้อมทั้งขออนุญาตไปที่เกิดเหตุทันที
ขณะที่ผมนั่งรถยนต์ไปกับพลขับ ปลัดฯ เลขาผู้ว่าฯ โทร. มาเร่งรัดตลอดว่า <พี่รีบหน่อย เพราะวิกฤตมาก>
ผมก็บอกว่า <พี่เร่งเต็มที่แล้ว กำลังข้ามสะพาน 200 ปี <สะพานเชื่อม อ.เมือง กับ อ.วารินชำราบ> ใกล้จะถึงแล้ว>
เมื่อไปถึงบริเวณที่เกิดเหตุ พ.ต.อ.อภิศักดิ์ เดชะคำภู ผกก.สภ.วารินชำราบ เข้ามาพบ และรายงานว่า <ผู้ว่าฯ เจรจากับผู้ชุมนุมไม่สำเร็จ ผู้ชุมนุมไม่พอใจโห่ร้อง ผู้ว่าฯ กลับไปแล้วครับ>
พ.ต.อ.อภิศักดิ์ ได้สรุปเหตุการณ์ให้ฟัง <เหตุการณ์โดยย่อก็คือ เจ้าของตลาด ขอขึ้นค่าเช่าแผงขายของ ทำเลดี 1,000 บาท นอกนั้น 500 บาท และขอขึ้นราคาเก็บเงินรถเข็นของในตลาด จากคันละ 70 บาท เป็น 500 บาท ต่อวัน กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและคนเข็นรถ ไม่ยอม เลยเอารถบรรทุกสิบล้อยี่สิบกว่าคันไปปิดถนนตรงทางแยก อ.วารินชำราบ – อ.เดชอุดม ทำให้การจราจรติดขัดเป็นอย่างมากเพราะเป็นเส้นทางหลัก>
ผมมองดูรอบ ๆ ทั่วบริเวณ เห็นรถบรรทุกจอดเต็มพื้นถนนและตามข้างทาง หลายสิบคัน มีกลุ่มคน พ่อค้าแม่ค้า และคนเข็นรถน่าจะหลายร้อยคน ยืนอยู่บนถนนและข้างทาง
ตรงกึ่งกลางทางแยก มีเวทีเตี้ย ๆ หญิงร่างใหญ่คนหนึ่งกำลังพูดผ่านเครื่องขยายเสียง ด่าว่าตำหนิติเตียนเจ้าของตลาด คนยืนฟังส่งเสียงเฮดัง ๆ ปรบมือด้วยความชอบใจ
ผมถาม พ.ต.อ.อภิศักดิ์ ว่า <ที่ตลาด มีห้องพอใช้ประชุมปรึกษากันได้มั้ย ?>
พ.ต.อ.อภิศักดิ์ ตอบทันที <มีครับ เป็นห้องทำงานของผู้จัดการตลาด>
ผมให้ พ.ต.อ.อภิศักดิ์ ไปบอกพ่อค้าแม่ค้า และคนเข็นรถ กับฝ่ายเจ้าของตลาด ให้จัดตัวแทนฝ่ายละสองคน รวมเป็นหกคนเข้าไปเพื่อปรึกษาหารือกัน ผมจะนั่งเป็นประธานเอง
ให้แจ้งนายอำเภอและสื่อมวลชนเข้าไปด้วย เพื่อรับรู้ร่วมกันและเพื่อความโปร่งใส
นายอำเภอไปส่งผู้ว่าฯ ปลัดอำเภอที่ยืนสังเกตุการณ์อยู่ห่าง ๆ มาแทน สื่อมวลชนหลายแขนงมาเต็มห้อง จนบางคนต้องยืน
ผมไม่รู้จักเจ้าของตลาด ไม่รู้จักพ่อค้าแม่ค้าและคนเข็นรถ
เมื่อที่ประชุมพร้อม ผมได้แนะนำตัวเองในที่ประชุม และพูดว่า <ผมไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
เราจะพูดคุยกัน แบบเปิดใจต่อกันใครจะบันทึกภาพ บันทึกเสียงหรือบันทึกวีดีโอ ได้เลย ผมขออนุญาตถามเจ้าของตลาดก่อนนะครับ เพราะเป็นต้นเรื่อง เชิญครับ>
เจ้าของตลาดพูด <ผมสร้างตลาด เปิดให้เช่าแผงขายของมานานสิบกว่าปีแล้ว ค่าเช่าคงเดิมตลอดมา ไม่เคยขึ้นราคาเลย ตลาดก็เริ่มเก่า ชำรุดทรุดโทรมต้องมีการซ่อมแซมและปรับปรุง จึงต้องขอขึ้นค่าเช่า>
เจ้าของตลาดพูดไม่ทันจบ พ่อค้าแม่ค้าชิงพูดขึ้นทันที <ของก็พอขายได้ แต่ขึ้นราคาเช่าเป็นพันใครจะรับได้>
ผมต้องรีบตัดบท <ขอให้ฝ่ายตลาดพูดให้จบก่อนนะ แล้วจะให้พูดอธิบาย>
เจ้าของตลาดพูดต่อ <รถเข็นของ ผมก็เก็บคันละ 70 บาทมาตลอด รายได้ดีมาก จนบางคนมีรถเข็นตั้งหลายคัน
จ้างคนเข็นอีก ผมจึงขอขึ้นราคา>
เหมือนเดิม ตัวแทนคนเข็นรถ พูดขึ้นมาทันที <พวกผมเป็นคนยากจน ใช้แรงงานแลกเงิน จากวันละ 70 บาท เป็น 500 บาทมันมากเกินไปแล้ว>
ผมต้องคุมเกมให้ได้ <เอาละ ๆ เดี๋ยวจะให้พูดนะ ฟังให้จบก่อน>
เมื่อเจ้าของตลาดพูดจบ จากนั้น ผมก็ให้ตัวแทนพ่อค้าแม่ค้าพูด และตัวแทนคนเข็นรถพูด ผมจับประเด็นได้แล้ว
จึงสรุปให้ทุกคนฟังว่า <ตลาดไม่เคยขึ้นค่าเช่าแผงมาเลยตั้งแต่เริ่มเช่า และตลาดก็คงทรุดโทรมตามกาลเวลา ผมคิดว่าตลาดควรขึ้นค่าเช่าแผงนะ แต่ขึ้นทีหนึ่ง 500 บาท ถึง 1,000 บาท มันก็มากอยู่ ผมเสนอแบบนี้ดีมั้ย
<พบกันครึ่งทาง>
ตรงทำเลดีก็ขึ้นไม่เกิน 500 บาท นอกนั้นก็สัก 250 บาท พ่อค้าแม่ค้าคงรับไหว แต่ต้องมีเงื่อนไขนะครับ คือต้องซ่อมแซม ตกแต่ง ปรับปรุงตลาดให้อยู่ในสภาพดี มีความมั่นคงแข็งแรง และภายในเวลา 2 ปีนับจากวันนี้ห้ามขึ้นราคาอีก ถ้าฝ่ายตลาดทำตามเงื่อนไขได้และพ่อค้าแม่ค้าพอใจในผลงาน อีก 2 ปีข้างหน้าเรามาคุยกันใหม่ ลองคิดดูนะครับ>
เจ้าของตลาด พ่อค้าแม่ค้า ตกลงกันแบบที่ผมเสนอ
ผมรุกต่อ <สำหรับการเก็บเงินคนเข็นรถที่ขึ้นราคาจากวันละ 70 บาท เป็น 500 บาท ผมขอพูดจากใจนะครับ เขาใช้แรงงานแลกเงิน ถ้าเขาจะได้เงินเป็นก้อนเป็นกำบ้างก็น่าเห็นใจ ผมขอเสนอดังนี้ครับ ขึ้นบัญชีคนและรถเข็นทุกคันเอาไว้ ให้เก็บวันละ 70 บาทเหมือนเดิม ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ถ้าใครมีรถเข็นเพิ่ม เก็บเฉพาะส่วนที่เพิ่มวันละ 300 บาท ดีมั้ยครับ ?>
เจ้าของตลาด เจ้าของรถเข็น ตกลงตามที่ผมเสนอ
บทสรุป ทั้งสามฝ่ายล้วนแล้วแต่ได้ประโยชน์ คือ
<ฝ่ายตลาด> ได้ขึ้นราคาค่าเช่าแผง แม้จะไม่เป็นไปตามความต้องการเดิม แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้น รวมทั้งรถเข็นที่จะเพิ่มมาใหม่ด้วยซึ่งมีแน่ ๆ เพราะตลาดตรงนั้นเป็นทั้งที่ขายของและรับส่งสินค้า
<ฝ่ายพ่อค้าแม่ค้า> ต่างก็ได้ประหยัดเงินค่าเช่าไปอีกครึ่งหนึ่ง ได้ขายของเหมือนเดิม และจะได้อยู่ในตลาดที่มั่นคงแข็งแรงจากการเอาเงินที่ขึ้นราคานี้ไปซ่อมแซม อีกทั้งภายในเวลา 2 ปี ไม่ต้องกังวลว่า ตลาดจะขอขึ้นราคาอีก
<ฝ่ายคนเข็นรถ> ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าเพิ่ม ของรถที่มีอยู่เดิม เว้นแต่มีรถเข็นใหม่
เป็นการประสานประโยชน์ของทุกฝ่ายในการเจรจาคราเดียวกัน
ผมให้ พ.ต.อ.อภิศักดิ์ เอาสมุด ปจว. จากโรงพัก มาที่ห้องประชุมลงบันทึกการตกลงไว้ ทุกฝ่ายร่วมกันลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
ขณะที่กำลังเขียน ปจว. ผมชวนตัวแทนพ่อค้าแม่ค้าและตัวแทนคนเข็นรถฝ่ายละ 1 คนไปกับผม เพื่ออธิบายให้ผู้ชุมนุมบนถนน ได้เข้าใจในสถานการณ์ ฝ่ายตลาดไม่ต้องไป เพราะไม่อยากให้มีการเผชิญหน้า
ผมขึ้นเวทีอธิบายเสร็จ ให้ตัวแทนพ่อค้าแม่ค้าและตัวแทนคนเข็นรถพูดต่อ ผู้ชุมนุมส่งเสียงโห่ร้องด้วยความดีใจ
ผมขอให้รถบรรทุกทุกคันออกจากถนนเพื่อคืนพื้นผิวการจราจร และให้ผู้ชุมนุมสลายตัว เก็บเวทีสิ่งของออกจากถนนให้หมด
เสียงคนขับรถบรรทุกตะโกนถามมาว่า <จะดำเนินคดีกับพวกผมที่จอดรถกีดขวางหรือเปล่าครับ ?>
ผมตอบสวนกลับดัง ๆ <รถที่ไหนครับ ? ผมมองไม่เห็นรถแม้แต่คันเดียว>
พวกคนขับรถและผู้ชุมนุมที่กำลังกระจายตัวส่งเสียงวี้ดวิ้วและปรบมือกันใหญ่ด้วยความพออกพอใจ
พ.ต.อ.อภิศักดิ์ กระซิบบอกผมว่า <พี่ใช้เวลา 28 นาที ในการเจรจาและเปิดการจราจรบนถนน>
ผมโทรศัพท์รายงานผลให้ ผบก.ฯ และ ผวจ.ฯ ทราบ ผวจ.ฯ ถามผม <ท่านรองฯ ดำเนินคดีกับคนที่เอารถมาปิดถนนหรือเปล่า ?>
ผมตอบไป <ผมว่ากล่าวครับ>
ผวจ.ฯ ยังคงติดใจ พูดเสียงเข้มขึ้น <อย่างนี้เขาก็ได้ใจนะซี>
ผมรีบตอบกลับไป <เดี๋ยวผมจัดการเองครับ>
ผมให้ พ.ต.อ.อภิศักดิ์ เรียกคนขับรถบรรทุกทุกคนมาพบ พร้อมหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชนและใบอนุญาตขับขี่ทั้งหมดรวม 28 คนเท่าจำนวนรถที่จอดปิดถนน
ผมอธิบายว่า <เพื่อให้เรื่องที่เกิดขึ้นนี้จบตามข้อกฎหมาย ผมขอปรับคนละ 100 บาท ข้อหาจอดรถกีดขวางการจราจร ค่าปรับนี้ทุกคนไม่ต้องใช้เงินตัวเองจ่ายเพราะผู้กำกับใจดีคนนี้จะจ่ายแทนทุกคน>
คนขับรถบรรทุกเฮลั่นและปรบมือดังสนั่น ยกมือไหว้ผม และไหว้ขอบคุณ พ.ต.อ.อภิศักดิ์ กันเป็นแถว
ทุกเหตุการณ์ทุกขั้นตอน ล้วนแต่อยู่ในสายตาของสื่อมวลชนทุกคนที่ไปทำข่าว
ผมคิดโดยส่วนตัวของผมเองว่า การเจรจาครั้งนี้ คลาสสิคมากกว่าทุกครั้ง ที่เคยเจรจามา
ไม่รู้จักกัน ไม่รู้จักใคร แต่ทำให้ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ทุกคน โดยเฉพาะประชาชน ผู้สัญจรไปมา
สื่อบางคนตั้งฉายาผมว่า <มือปราบม็อบ> แต่ผมไม่ยอมรับ ผมบอกว่า ขอเป็น <มือประสานม็อบ> น่าฟัง น่ารักกว่าตั้งเยอะ จริงมั้ยครับ ?
พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท