ข่าวประชาสัมพันธ์

กรมชลฯ เดินหน้าพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง และโครงการ ปตร.ห้วยเป เพิ่มศักยภาพบริหารจัดการน้ำ บรรเทาภัยแล้ง-น้ำท่วม


24 พฤศจิกายน 2023, 10:34 น.

 

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย

 

 

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นายสุนทร คำศรีเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 พร้อมคณะเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน และคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามก้าวหน้าโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย เพื่อบรรเทาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในเขตพื้นที่ จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี

 

 

สำหรับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 มีแผนงานโครงการ 9 ปี (พ.ศ.2561-2569) มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร รวมถึงบรรเทาอุทกภัย ในเขต จ.หนองคาย และอุดรธานี พร้อมเตรียมผลักดันให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ สร้างรายให้แก่ชุมชนใกล้เคียง

 

 

นายสุนทร คำศรีเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 เผยว่า การพัฒนาโครงการลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง หรือพื้นที่ลุ่มน้ำของภาคอีสานตอนบน มีพื้นที่สามารถรองรับน้ำได้ 2,260 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะภาคการเกษตร เนื่องจากสภาพภูมิประเทศไม่เหมาะที่จะสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ไว้ใช้ในฤดูแล้ง ในขณะที่ปริมาณฝนที่ตกในแต่ละปีมีอัตราเฉลี่ยที่สูง เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ของประเทศ จึงมักเกิดปัญหาน้ำหลากเป็นประจำทุกปี เฉลี่ยแล้วในแต่ละปีจะมีพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 90,000 ไร่ ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เรือกสวนไร่นาได้รับความเสียหาย การทำนาปีจึงเปลี่ยนมาทำนาปรังหลังน้ำลดแทน ดังนั้น โครงการนี้จะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบการเกษตร และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาความเสียหายจากภัยธรรมชาติ

 

 

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง มี 7 โครงการสำคัญที่จะเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพประกอบไปด้วย

1) งานสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง

2) ปรับปรุงพนังกั้นน้ำเดิมฝั่งขวาตามแนวลำห้วยหลวงและอาคารบังคับน้ำตามลำน้ำสาขา

3) พนังกั้นน้ำใหม่และอาคารบังคับน้ำตามลำน้ำสาขา

4) อาคารบังคับน้ำตามลำน้ำห้วยหลวง

5) โครงข่ายระบบชลประทาน จำนวน 13 โครงข่าย

6) แก้มลิงและอาคารประกอบ จำนวน 20 แห่ง

7) งานระบบควบคุมอุทกภัยอัจฉริยะ (Smart Flood Control System)

 

 

สำหรับงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง ถือเป็น 1 ในแผนงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำ ห้วยหลวงตอนล่าง เป็นการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 15 ลบ.ม./วินาที จำนวน 10 เครื่อง อัตราการสูบน้ำสูงสุด 150 ลบ.ม/ วินาที พร้อมด้วยคลองชักน้ำ ความยาว 1,344 เมตร และประตูระบายน้ำ อัตราการระบาย 395 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีผลงานคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 78 ของแผนงานฯ ทั้งนี้หากโครงการดังกล่าว ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขต จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานเดิม 15,000 ไร่ และเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ได้ถึง 300,195 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 284 หมู่บ้าน 37 ตำบล 7 อำเภอ ของจังหวัดหนองคายและอุดรธานี รวม 29,835 ครัวเรือน อีกทั้งยังเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับ จ.หนองคาย สร้างรายได้และขยายอาชีพให้กับประชาชนในเขตพื้นที่โครงการฯ ที่สำคัญจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่จะช่วยขยายพื้นที่ชลประทานให้กับพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกด้วยในอนาคต ส่งผลให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

 

 

และในช่วงบ่าย นายเศกสิทธิ์ โพธิ์ชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน พร้อมด้วยนายนิติพัฒน์ บุญช่วยเรืองชัย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 5 และนายจิรัฏฐวัฒน์ เมืองแพน หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาโครงการประตูระบายน้ำห้วยเป อำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร รวมถึงบรรเทาอุทกภัย โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านโนนฤาษี และบ้านกลุ่มพัฒนา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำโขงหนุนสูงไหลย้อนเข้าท่วมแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายเป็นประจำทุกปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ระยะเวลาในการก่อสร้างประตูระบายน้ำหัวงานและอาคารประกอบ รวม 4 ปี (พ.ศ.2565–2568) ประกอบด้วย อาคารประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ชนิดบานตรง ขนาด กว้าง 10 เมตร สูง 8 เมตร จำนวน 4 ช่อง สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 480 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีผลงานการก่อสร้างทั้งโครงการกว่าร้อยละ 45

 

 

ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถกักเก็บน้ำเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้ชาวบ้านในเขตพื้นที่อำเภอโพนพิสัยและอำเภอรัตนวาปี และมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบการเกษตร และน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค อีกทั้งช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ และบริหารจัดการน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งของทุกปี โดยมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ช่วงฤดูฝน 9,000 ไร่ และช่วงฤดูแล้ง 2,500 ไร่ ราษฎรในพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 8,735 ครัวเรือน

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดข่าวประชาสัมพันธ์

เรื่องล่าสุด