<บรรยายสด>
<ถามสด ตอบสด>
<ซีดีโดนใจ>
<กับการใช้ดุลยพินิจ>
พ.ศ.2550 – 2555 ผมเป็น รอง ผบก.ภ.จว. อุบลราชธานี รับผิดชอบงานสอบสวนและงานความมั่นคงฯ
ช่วงนั้น มีมวลชนเสื้อสีแดง 8 กลุ่ม เสื้อสีเหลือง 2 กลุ่ม และราชธานีอโศก ของท่าน สมณะโพธิรักษ์ ผมเป็นคนประสานงานทั้งหมดทุกกลุ่ม ทุกสี ทุกฝ่าย
เวลาประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ใน จว.อุบลราชธานี ผมมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นหลายเรื่อง ทำให้รู้จักกับหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ รวมทั้งคณาจารย์ ม.ราชภัฏอุบลราชธานี อีกหลายท่าน
วันหนึ่ง คณะนิติศาสตร์ ม.ราชภัฏอุบลราชธานี มีหนังสือเจาะจง เชิญผมให้ไปบรรยายพิเศษเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปที่ประชาชนควรรู้
บรรยายเดี่ยวที่ห้องประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัย จะมีผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษครั้งนี้ คือ อาจารย์หลายท่าน นักศึกษา คณะนิติศาสตร์ ระดับ ป.ตรี ป.โท และ ป.เอก บางคณะ
ผมเตรียมตัว เตรียมหนังสือกฎหมายสำหรับประชาชน ที่ ตร. พิมพ์แจกจ่าย เตรียมตัวอย่างประกอบคำบรรยาย และเตรียมใจ
ก็ผมเป็น นรต. ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านกฎหมายเพียงแต่เคยเรียนเป็นวิชาบังคับใน รร.นรต. เคยเรียนคณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเปิดแต่ไม่จบ ทำงานจนไม่มีเวลาเรียน
ผมอาศัยการอ่านตำรากฎหมาย อ่านคำพิพากษาฎีกา เป็นแนวทาง
ทำงานที่โรงพักทั้ง สน. ในนครบาล และ สภ. ในภูธร ก็ยังอ่านอยู่
ที่มีมากและหลากหลาย <คือประสบการณ์ การทำงานด้านสอบสวน> ซึ่งต้องใช้กฎหมายเป็นหลักในการปฏิบัติ
วันบรรยายมาถึง ผมแต่งเครื่องแบบตำรวจภายในห้องประชุมใหญ่ มีผู้นั่งฟังนับร้อยคนทั้งคณาจารย์และนักศึกษา
แนะนำตัวกันเสร็จผมเริ่มบรรยาย พร้อมยกตัวอย่างประกอบได้รับความสนใจ พอควร
แล้วจุดที่ผู้รับฟังรอคอย ก็มาถึง ในช่วงให้สอบถามหลังการบรรยาย
อาจารย์ชายท่านหนึ่ง ได้ถาม ประมาณนี้ ว่า …
<มีข่าวตามสื่อมวลชนทุกแขนงทั้งทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์เรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมสองพ่อลูกที่เก็บแผ่นซีดีเก่าจากกองขยะแล้วเอาไปขาย อีกรายที่ถูกจับกุมเป็นนักศึกษาสาว เอาแผ่นซีดีเก่าของตัวเองไปขาย โดยกล่าวหาว่า <ละเมิดลิขสิทธิ์> เหตุเกิดใน กทม. ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เห็นใจชาวบ้าน ? เพราะแผ่นซีดีนั้นเจ้าของเดิมเขาทิ้งแล้ว ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เห็นใจนักศึกษาสาว ? เพราะเป็นแผ่นซีดีของเธอเอง
เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้รักษากฎหมายก็จริง <แต่น่าจะใช้ดุลยพินิจได้> ว่าอะไรควรดำเนินการ ? อะไรไม่ควรดำเนินการ ? อยากฟังคำอธิบายของท่านวิทยากรซึ่งเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดครับ>
ผู้ฟังทั้งห้อง มองมาที่ผม เหมือนจะสังเกตุดูว่าผมมีอากัปกิริยาอย่างไร ? จะตอบอย่างไร ?
ผมรับฟังคำถามจากท่านอาจารย์ยาวเหยียด แต่ก็จับประเด็นใจความได้เพราะทั้งสองเรื่องนี้เป็นข่าวคึกโครมมาก และสังคมก็โจมตีตำรวจมากเช่นกัน จนผม รู้สึกปวดตับอับอาย
เพราะไม่มีคำอธิบายจาก ตร. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนเข้าใจ ว่าทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำอย่างนั้น ?
ผมตั้งสติ ตอบตามความรู้ และประสบการณ์การทำงาน <ขอบคุณท่านอาจารย์ที่ถามเรื่องนี้ครับ ผมขอไล่เรียงไปทีละตอน ไม่ได้เป็นแบบวิชาการ แต่ตามความรู้ และตามประสบการณ์ที่มี ดังนี้ครับ
<ลิขสิทธิ์> คือการแสดงความเป็นเจ้าของ โดยมีการจดทะเบียนเป็นลายลักษณ์อักษร เจ้าของลิขสิทธิ์ ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์หรือสินค้ารายใหญ่ทั้งในประเทศ และต่างประเทศล้วนแล้วแต่มีอำนาจบารมีและอิทธิพลที่สามารถจะทำให้รัฐบาลออกกฎหมายโดยมีบทบัญญัติลงโทษสูงมาก เช่น พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ของประเทศไทยมีบทลงโทษผู้กระทำผิดทั้งโทษจำคุก และโทษปรับ ถึง 200,000 บาท
<ใครเป็นคนที่มีหน้าที่ออกกฎหมาย ?> รู้ไหมครับ ?
ผมคิดว่าทุกท่านในที่นี้ ซึ่งเป็นอาจารย์ เป็นนักศึกษานิติศาสตร์ บางท่านก็ทำงานด้านกฎหมายแล้ว เช่นทนายความ ท่านคงรู้ขั้นตอนการออกกฎหมายได้ดี
แต่ผมขอพูดคร่าว ๆ ว่า <ส.ส. ส.ว.> คณะกรรมาธิการทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เป็นผู้เสนอร่างกฎหมาย เมื่อผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้วนายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลเพื่อให้พระมหากษัตริย์ ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้เป็นกฎหมาย
<ใครเป็นคนบังคับใช้กฎหมาย?> รู้ไหมครับ ?
<ตำรวจ> คือผู้บังคับใช้กฎหมายครับ เกือบทุกกฎหมายที่มีโทษทางอาญา ตำรวจเป็นเสมือนยาดำที่จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง แม้บางกฎหมาย มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้วก็ตาม
เช่น กฎหมายศุลกากร เมื่อยึดของหลบหนีภาษีได้ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ยอมเสียค่าปรับ ในอัตรา 4 เท่า ของราคาของนั้น
เรื่องจบ แต่ถ้าไม่ยอมเสียค่าปรับ ศุลกากร ก็จะส่งเรื่องให้ตำรวจดำเนินคดี
เห็นไหมครับ ! <ประโยชน์> เขารับไป <งาน> ตำรวจรับมา
ตัวอย่างอีกกฎหมายหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าตำรวจจะรู้สึกเหมือนผม คือการดำเนินคดีเด็กหรือเยาวชน
กฎหมายวิธิพิจารณาเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชน ผมจำได้ว่า มาตรา 63 <กฎหมายเดิม ก่อนมีการแก้ไขในปัจจุบัน> ให้อำนาจผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กใช้ดุลยพินิจไม่ต้องส่งเด็กหรือเยาวชนขึ้นศาลได้ถ้าคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดนั้นมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี โดยให้คำนึงถึงสภาพแวดล้อม ฯลฯ แล้วประสานพนักงานอัยการ ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยก็สั่งไม่ฟ้อง ยุติเรื่องได้เลย
ตำรวจล่ะครับ ! ตั้งแต่ผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์ว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดก็เร่งรัดให้จับกุมทั้งบ่นทั้งว่า ทั้งจะร้องเรียน ว่าทำงานล่าช้า ไม่ใส่ใจ ครั้นจับกุมได้แล้วต้องรีบส่งตัวเด็กหรือเยาวชน ไปสถานพินิจและคุ้มครองเด็กภายใน 24 ชั่วโมง ยังสอบสวนไม่ได้เพราะต้องรอ สหวิชาชีพ ซึ่งกว่าจะนัดพร้อมกันได้ยากเหลือเกิน ทุกคนต่างก็อ้างภารกิจของตัวเองตำรวจต้องกุมขมับ เพราะเป็นคนรับผิดชอบในสำนวนการสอบสวนที่มีเงื่อนเวลาบังคับ
สำนวนการสอบสวน นอกจากสอบสวนผู้กล่าวหา ผู้ต้องหา พยาน แล้ว ต้องรอรายงานการแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน จากสถานพินิจฯ อีก ต้องรอผลการตรวจสอบประวัติพิมพ์มือ จากกองทะเบียนประวัติอาชญากรอีก ต้องผัดฟ้องต่อศาลคดีเด็กและเยาวชนอีก สำนวนการสอบสวนหนาเป็นปึก
พนักงานสอบสวน มีความเห็นทางคดีตามพยานหลักฐาน <ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจเป็นอย่างอื่นได้>
เมื่อเป็นอย่างนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และตัวเด็กหรือเยาวชนเองก็ต้องขอบคุณ ต้องรัก และต้องชอบผู้อำนวยการสถานพินิจฯ กับพนักงานอัยการ เพราะช่วยให้ไม่ต้องขึ้นสู่กระบวนการชั้นศาล
ใครล่ะ ? จะมารักมาชอบตำรวจ
ในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งสองเรื่อง ที่ท่านอาจารย์ถาม ก็เช่นเดียวกัน
คดีนี้ กฎหมายบัญญัติว่า เป็นคดีอันยอมความได้ เมื่อผู้เสียหายหรือผู้รับมอบอำนาจตามกฎหมายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ได้แจ้งความร้องทุกข์แล้ว พบการกระทำความผิดที่ใด อันเป็นความผิดซึ่งหน้า ก็สามารถแจ้งให้ตำรวจจับกุมได้ เพื่อส่งพนักงานสอบสวน ดำเนินคดี
ถ้าตำรวจปฏิเสธ ไม่จับกุม ปฏิเสธไม่ดำเนินคดี เพราะเห็นว่าเป็นซีดีที่ สองพ่อลูกเก็บมาจากกองขยะ เป็นซีดีเก่าของนักศึกษาสาวเอง ตำรวจก็จะกลายเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง คือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อาญา ม.157
เพราะกฎหมาย <ไม่ได้บัญญัติให้ตำรวจมีอำนาจใช้ดุลยพินิจ> ในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่เหมือนกับกระบวนยุติธรรมอื่น ๆ พนักงานอัยการ กฎหมายบัญญัติให้ใช้ดุลยพินิจได้ถ้าคดีนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ฯลฯ
แม้กระทั่งศาลเอง กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษา มีอิสระในการพิจารณา พิพากษา
ตัวอย่างเรื่องจริงในคดีที่ท่านอาจารย์ถาม คดีละเมิดลิขสิทธิ์ของสองพ่อลูก ถ้าผมจำไม่ผิดศาลพิพากษา ปรับ 200,000 บาท รับสารภาพลดกึ่งหนึ่ง คือ 100,000 บาท โทษจำคุก รอลงอาญา
คนจน ๆ อย่างนั้น จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายค่าปรับคงต้องโดนกักขังแทนค่าปรับจนหัวโต ชาวบ้าน ประชาชน คนทุกชนชั้น พากันตำหนิติเตียน ด่าว่าตำรวจกันยกใหญ่ตามที่เป็นข่าวสื่อต่าง ๆ โชคดีที่โฆษก ตร. พล.ต.ท.ดร.พงศพัศ พงษ์เจริญ ได้ไปชำระค่าปรับให้
อีกคดี ที่นักศึกษาสาว ละเมิดลิขสิทธิ์ ศาลคนละศาลกับคดีสองพ่อลูก เพราะเหตุเกิดคนเขตพื้นที่ ศาลได้พิพากษาให้รอการกำหนดโทษ โดยมีเงื่อนไข
ตามที่ผมได้พูด พร้อมยกตัวอย่างอธิบายทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าท่านอาจารย์ นักศึกษา คงจะพอเข้าใจตำรวจได้มากขึ้นกว่าเดิม
คดีลิขสิทธิ์นี่แปลกดีนะครับ เอาเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์แผ่นซีดีนี่แหละ ละเมิดลิขสิทธิ์ ซีดี 1 แผ่น กับละเมิด 1,000,000 แผ่น รับโทษเท่ากันเพราะไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำเหมือนคดีอื่น
ตัวอย่างเข่น คดีลักทรัพย์ ถ้าผู้กระทำความผิดกระทำเพราะความยากจนเหลือทนทาน หรือทรัพย์นั้นมีราคาเพียงเล็กน้อย ศาลจะลงโทษต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เพียงใดก็ได้เพียงเพื่อให้ผู้กระทำความผิด หลาบจำเท่านั้น
กฎหมายลิขสิทธิ์มีโทษสูง ก็เพื่อเอาใจนายทุนและประเทศมหาอำนาจ คนออกกฎหมายคือใคร ? ทุกท่านคงรู้แล้ว
<ตำรวจ> เป็นเพียงผู้ปฏิบัติเท่านั้นถ้าไม่ทำก็เจอข้อหาละเว้น
ถ้าท่านคิดจะตำหนิ คิดจะด่าว่า หรือคิดจะแนะนำ ท่านคิดว่าจะตำหนิ หรือด่าว่า หรือแนะนำ ใครดี
ระหว่าง ผู้ออกกฎหมาย กับ ผู้บังคับใช้กฎหมาย
ขอบคุณครับ มีคำถามอีกไหมครับ ?>
ไม่มีคำถาม มีแต่เสียงปรบมือ
หลังจากเสร็จสิ้นการบรรยาย ท่านอาจารย์ และนักศึกษาหลายคน เข้ามาพูดคุยกับผมแสดงความชื่นชม และบอกว่า <เข้าใจตำรวจมากขึ้น> ประโยคสุดท้ายนี้ ทำให้หัวใจผมพองโตครับ
ผมไม่ใช่นักวิชาการ หรือผู้ชำนาญการด้านกฎหมาย ผมก็พูดไปตามประสาของคนทำงานที่ชอบเรียนรู้ โดยมีความจริงใจ ความบริสุทธิ์ใจ และความรักองค์กรเป็นที่ตั้ง
ขอถามดัง ๆ ไปยังรัฐบาลและผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ถึงเวลาที่ควรจะพิจารณาออกกฎหมายให้ตำรวจ <ใช้ดุลยพินิจ> ใน<การจับกุม> และ <การดำเนินคดี> ได้หรือยังครับ ?
อย่าปล่อยให้ตำรวจเป็นกระโถนท้องพระโรง เป็นหนังหน้าไฟ เป็นคนบังคับใช้กฎหมาย โดยไร้ดุลยพินิจ ต้องโดนด่าว่า โดนตำหนิ จากสังคม จากประชาชน แล้วจึงมาแก้ตัวภายหลังเลยครับ
พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท