คอลัมนิสต์

ความเชื่อมั่นและศรัทธา


18 พฤศจิกายน 2023, 18:24 น.

 

องค์กรตำรวจ อยู่คู่แผ่นดินไทยมานานเนกาเลแล้ว ในสมัยโบราณ ตำรวจทำหน้าที่เป็นองครักษ์พระมหากษัตริย์

 

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คนต่างด้าวท้าวต่างแดน หลายประเทศ เข้ามาติดต่อเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และค้าขาย พระองค์ทรงให้มี กองตำรวจภูธรขึ้น เพื่อดูแลความสงบ ความเรียบร้อย ในต่างจังหวัด
จึงยกย่องว่า พระองค์คือ <พระบิดาตำรวจไทย>

 

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการรวมกองพลตระเวน <นครบาล> กับกองตำรวจภูธร เป็นหน่วยงานเดียวกัน ระดับกรม เรียกว่า <กรมตำรวจ> เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2458

 

และได้ มีพระราชกฤษฏีกา แบ่งส่วนราชการ ให้กรมตำรวจมีฐานะเป็น <สำนักงานตำรวจแห่งชาติ> เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2541

 

 

ตำรวจมีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ คนดีต้องอยู่เย็นเป็นสุข คนร้ายต้องอยู่ร้อนนอนคุก

 

ไม่ว่าจะมีคดีอะไรเกิดขึ้น ผู้กระทำความผิดพากันหลบหนีหัวซุกหัวซุน ถึงอย่างไรก็ไม่อาจพ้นมือตำรวจไปได้

 

<ตำรวจยุคเก่า> ยุคตำรวจเดินเท้าตรวจ ยุคตำรวจขี่ม้าล่าโจร ยุคตำรวจใช้ปืนคาบศิลา ปืนสเตน ปืนคาร์บิน ยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยี

 

ประชาชนเชื่อมั่น ศรัทธา ตำรวจมาก เช่น พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช ฉายา นายพลหนังเหนียว

 

 

<ยุคมือปราบ> ปราบจริง ยิงจริง นิ่งไม่พูด อาทิ เช่น พล.ต.อ.บุญทิน วงศ์รักมิตร ฉายา อินทรีอีสาน, พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ฉายา เสือใต้, พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ฉายา สิงห์เหนือ, พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา เดอะอ๊อด สิงห์นครบาลเหนือ,
พ.ต.อ.ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ เดอะโต้ง เสือนครบาลใต้, พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี เดอะอู๊ด FBI. และอีกหลาย ๆ ท่าน ที่ทุ่มเททำงานเพื่อความสงบสุขของพี่น้องประชาชน

 

ถ้าเอ่ยชื่อขึ้นมาเมื่อไหร่ พวกคนเลว คนร้าย คนชั่ว คนทำผิดกฎหมาย จะกลัวจนอกสั่นขวัญแขวน ไม่กล้าไปก่อกรรมทำเข็ญ เพราะกลัวไปเกิดใหม่

 

ทางฝ่ายตำรวจที่ทำงานด้านสอบสวน ก็จะรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ จากเขียนด้วยมือ มาใช้พิมพ์ดีด เอกสารเป็นตั้ง บางคดี สู้กันถึงสามศาล ส่วนมาก ตำรวจเป็นฝ่ายชนะคดี

 

 

<มือสอบสวนชั้นครู> ในอดีต อาทิเช่น พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ ฉายา อาจารย์แหวง, พล.ต.ท.ประยูร โกมารกุล ณ นคร ฉายา อาจารย์ยูร, พล.ต.ต.บรรเจิด จุฑามาศ ผมไม่รู้ฉายา รู้แต่ว่าใจดี มีสปิริตกับผู้ใต้บังคับบัญชา, พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน
ฉายา อาจารย์นวย แต่สื่อตั้งฉายาให้ว่า นวยทนได้ และอีกมากมายหลายท่าน ที่ล้วนอยู่ในความทรงจำของหน่วยงาน ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน มิรู้ลืม

 

<ยุคปัจจุบัน> ยุคเทคโนโลยี ยุคโซเชียลมีเดีย ยุคแกะรอยโทรศัพท์ ยุคมือปราบกล้องวงจรปิด ยุคที่มีความพร้อมในการทำงานมากที่สุด

 

 

แต่เวลาพี่น้องประชาชน มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ ทำไมพี่น้องประชาชนถึงต้องไปหา ปวีณา หงสกุล, สายไหมต้องรอด, กัน จอมพลัง, อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์, ทนายความบางคน

 

พอคนเหล่านี้ พาผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์ ตำรวจก็กุลีกุจอกัน เพื่อรับเรื่อง เพื่อสอบสวน เพื่อจับกุม เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย อย่างรวดเร็ว มีการออกข่าว ออกสื่อ กันเอิกเกริก

 

 

ผมชื่นชมนะ ที่คนเหล่านั้น มีน้ำจิตน้ำใจช่วยเหลือคนที่ได้รับความทุกข์ ความเดือดเนื้อร้อนใจ ด้วยความเต็มใจ ด้วยความมีน้ำใจ มิใช่เพราะกระหายแสง แถมมีผลงานชัดเจน เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมหลายเรื่อง

มีส่วนช่วยกระตุ้น ทำให้ตำรวจได้บรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติ เพื่อพี่น้องประชาชน

แต่…อีกมุมมอง พี่น้องประชาชน สูญสิ้นความเชื่อมั่นและศร้ทธา ในการทำงานของตำรวจแล้วหรืออย่างไร ? จึงต้องไปหาตัวช่วย

 

ทำอย่างไร ตำรวจจะเรียกความเชื่อมั่นและศรัทธากลับคืนมา เช่นในอดีต

ไม่…ยาก ถ้าตำรวจทุกคน <รู้จักหน้าที่ตัวเอง>

 

มีอีกหลากหลายแนวทาง ตัวอย่างเช่น

 

โดยการ <เคารพ เอื้อเฟื้อ ต่อหน้าที่ กรุณาปราณีต่อประชาชน> มีความหมายตรงตัว <เพื่อนบอกมา>

 

โดยมีหลักในการทำงาน <เอาหลักเป็นนาย ไม่เอานายเป็นหลัก> ความหมายคือ ทำงานโดยยึดหลักการ แม้ว่าคนที่เป็นนายจะสั่ง ถ้านอกหลักการ ก็ไม่ทำ มีเหตุผลชี้แจงได้ มีจิตใจมั่นคง ไม่เอนเอียง เพราะไม่ใช่ความถูกต้อง

อนาคตอาจจะเจริญช้า แต่มั่นคง อยู่รอดปลอดภัย

 

พวกเอาใจนาย อาจโตไว แต่ก็อาจล้มได้ตลอดเวลา <น้องบอกมา>

 

สุดท้ายเป็นวิธีการหนึ่ง ที่ <ผมใช้> มาตลอด คือ การทำงานต้อง <เอาใจใส่ และใส่ใจเข้าไปด้วย> เพื่อให้งานมีชีวิต

 

<เอาใจใส่> คือหน้าที่ <ใส่ใจ> คือวิธีการ

ตัวอย่างเช่น สายตรวจ มีหน้าที่ออกตรวจตราพื้นที่ เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ออกตรวจด้วยความ <เอาใจใส่>ตามหน้าที่ จุดตรวจโน้น จุดตรวจนี้ ลงลายมือชื่อตรวจ ถ่ายภาพ ส่งไลน์ เป็นหลักฐานหมด ครบทุกจุด

 

แต่ถ้า <ใส่ใจ> เข้าไปด้วย เช่น พูดคุยกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน แม้กระทั่งยาม หรือ รปภ. สอบถามถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อหาข่าวในทุกมิติ ก็จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทำให้งานสายตรวจ <มีชีวิต>ขึ้นมา เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับวางแผนป้องกันปราบปรามอาชญากรรมได้

 

 

พล.ต.ต.ฉัตรกนก เขียวแสงส่อง ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา เคยให้ผมเขียนบทกวี ทำเป็นป้ายขนาดใหญ่ติดไว้ทั่วบ้านทั่วเมือง ตามย่านชุมชน ทางแยก และหน้า ภ.จว.

 

<ถ้าพึ่งใครไม่ได้ให้มานี่ ตำรวจดีมีบริการช่วยท่านได้ บำบัดทุกข์บำรุงสุขจากหัวใจ โรงพักไหนไม่บริการ เชิญท่านมา>

 

ถ้าตำรวจทำได้อย่างนี้ ทำอย่างรู้จักหน้าที่ตัวเองอย่างที่กล่าวถึงแนวทางตัวอย่างการทำงานไว้ข้างต้น หรือแนวทางอื่นที่เห็นว่า ดี มีประโยชน์ต่อการทำงาน เพื่อช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ สร้างความสุข แก่พี่น้องประชาชน

ปวีณา หงสกุล, สายไหมต้องรอด, กัน จอมพลัง, อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์, ทนายความบางคน อาจจะไม่ต้องมาเหนื่อยกับการเป็นตัวช่วยตำรวจก็ได้

 

ช่วยกันนะเพื่อให้องค์กรตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องไปหาตัวช่วย

 

แต่ถ้ายังทำไม่ได้ ยังเรียกความเชื่อมั่นและศรัทธากลับคืนมาจากพี่น้องประชาชนไม่ได้ ผมก็ขอน้อมคารวะแด่ตัวช่วยกิตติมศักดิ์ทุกคนจากใจจริงครับ

 

พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดคอลัมนิสต์

เรื่องล่าสุด