วันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมเดอะฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้ พาร์ค อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานโครงการประชุมมอบนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในส่วนภูมิภาค กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี และจังหวัดชัยนาท โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การดำเนินโครงการฯ และนายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวต้อนรับคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายอำเภอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจ ผู้แทนเอกชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ให้การต้อนรับและร่วมประชุม
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประชุมหารือวงเล็กกับหัวหน้าส่วนราชการของแต่ละจังหวัด พร้อมกำชับเรื่องของการป้องกัน และปราบปรามปัญหายาเสพติด ก่อนจะพบข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด โดยระบุว่า ปัญหายาเสพติด เราต้องให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติ ปัจจุบันปัญหานี้มีความรุนแรงมาก เวลานี้ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่ต้องช่วย บูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหา
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ต้องให้ความสำคัญกับเด็กวัยรุ่น โดยเฉพาะในยุคโซเชียล ที่อาจได้รับข้อมูลที่ผิด หรือยังไม่ได้รับการกลั่นกรอง เราต้องคอยสอดส่องดูแล อย่ามองว่าเด็กเหล่านี้เกเร ควรดึงให้เด็กกลุ่มนี้มาช่วยงาน ให้เขามีกิจกรรม ส่งเสริมทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง ที่ได้ทำตัวเป็นประโยชน์กับสังคม”
“มหาดไทย ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ ถ้าเส้นเลือดดี ร่างกายก็จะดีตาม ใช้การได้ดีเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ดังนั้นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนท้องถิ่น ควรช่วยกัน ทำงานส่งเสริมซึ่งกันและกัน”
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยถือเป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานใกล้ชิด และส่งผลต่อประชาชนโดยตรง การนำนโยบายสำคัญสู่ภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เป็นเรื่องสำคัญ จึงขอให้ท่านได้ร่วมกันขับเคลื่อน ทั้งภารกิจตามนโยบายของรัฐบาล (Agenda) ภารกิจตามอำนาจหน้าที่ (Function) และภารกิจเชิงพื้นที่ (Area) รวมทั้งขับเคลื่อนงานในฐานะผู้บัญชาการพื้นที่แทนรัฐบาล (Area Manager) ด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายสำคัญ 10 ประเด็น คือ
1. การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ น้อมนำแนวพระราชดำริไปประยุกต์ใช้ในการทำงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุข
2. น้ำดื่มสะอาดฟรี ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน โดยการติดตั้งเครื่องกรองน้ำในชุมชมให้บริการน้ำดื่มสะอาดแก่ประชาชน สำหรับในพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำ ให้ใช้รถบรรทุกน้ำติดตั้งเครื่องกรองน้ำ ให้บริการประชาชนฟรีพร้อมติดตั้งเครื่องกรองน้ำให้ให้บริการประชาชนฟรี ในระยะยาวการประปาต้องพัฒนา ปรับปรุงให้ประชาชน เชื่อมั่นน้ำประปาดื่มได้ฟรี
3. การลดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันของทุกส่วนราชการ โดยให้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Road Map) และส่งเสริมการติดตั้ง Solar Cell/Solar Rooftop ในสถานที่ราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและไฟฟ้าส่งสว่างสาธารณะ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าจากเดิมไม่น้อยกว่า 30% และให้ลดค่าใช้จ่ายน้ำมันจัดหารถพลังงานสะอาด
4. พลังงานสะอาด มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด สนับสนุนการติดตั้ง Solar Cell ในที่อยู่อาศัย และส่งเสริมให้ครัวเรือน ชุมชนสร้างรายได้จากพลังงานสะอาด
5. การจัดระเบียบสังคมปราบปรามผู้มีอิทธิพล ให้ส่วนราชการบูรณการจัดระเบียบสังคมเพื่อสร้างสังคมให้สงบสุข บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดอบายมุข ประชาชน มีความมั่นคงปลอดภัย กำหนดมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพลให้ชัดเจนและเห็นเป็นรูปธรรม
6. การบริการประชาชนแบบ One Stop Service การมุ่งหน้าสู่ระบบรัฐบาลดิจิทัล โดยพัฒนาแพลตฟอร์มหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) นำระบบดิจิทัลมาใช้ในการปฏิบัติราชการ การทำธุรกรรม และเพิ่มประสิทธิภาพในงานบริการ
7. การอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ส่งเสริมให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นวางแผนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณณูปการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆสำหรับนักท่องเที่ยว อีกทั้งใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์สมัยใหม่สำหรับเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว และเตรียมความพร้อมดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวด้วยระบบ AI อัจฉริยะ
8. การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การผลิต การตลาด และการจำหน่าย “มุ่งเน้นการลดรายจ่าย สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน โดยกำหนดมาตรการเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน เช่น การน้อมนำหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต การใช้ประโยชน์จากทุนชุมชน การพักหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พร้อมทั้งกำหนดมาตรการ และแนวทางเพื่อเพิ่มรายได้
9. การแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้เสริมสร้างความเข้มแข็งหมู่บ้าน/ชุมชนสีขาวปลอดยาเสพติด การทำงานเชิงรุกและเชิงรบเพื่อป้องกันยาเสพติด อีกทั้งผู้เสพยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาและได้รับการฟื้นฟูสภาพทางสังคมคืนคนดีสู่สังคม โดยให้มอง “ผู้เสพ” คือ “ผู้ป่วย”
10. สนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณสุขปฐมภูมิและเตรียมความพร้อมท้องถิ่นรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยเพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณสุขขั้นปฐมภูมิและการสร้างเสริมสถขภาพเชิงป้องกัน การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งเตรียมความพร้อมท้องถิ่นรองรับสังคมผู้สูงอายุ และการจัดตั้งสถานชีวภิบาลประจำท้องถิ่น
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำ ปัญหายาเสพติดถือเป็นวาระแห่งชาติ มันไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน”