อารยธรรมไทย-เขมร
เขมรรับศาสนาพุทธและพราหมณ์
จากเขตคามดินแดนไทยสมัยเก่า
จากภาคใต้ “ยุคศรีวิชัย” ของไทยเรา
ครั้งนานเนา “ยุคทวาราวดี”
มี “พระธาตุไชยา” สร้างมาก่อน
“เมืองศรีเทพ” แน่นอนเก่าเต็มที่
ศักราชปรากฎกำหนดมี
ระบุปีก่อน “นครวัด” มีชัดเจน
๘ พ.ย. ๖๖
ระยะนี้มีข่าวระหองระแหงมากมายเกี่ยวกับชาวเขมรและชาวไทย ในเรื่องที่ชาวเขมรกล่าวหาว่าไทยเป็นโจรไปปล้นเอาวัฒนธรรมเขมรมาใช้ไปลอกเลียนความเจริญของเขมรแล้วอ้างว่าเป็นของไทย (บางคน ใช้ศัพท์ว่า “เคลม”) เช่น มวยไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก เขมรก็กล่าวหาว่าไทยไปลอกเลียน “กุนขะแมร์” หรือมวยเขมรมา การแต่งตัวของคนไทยในละครเรื่องบุบเพสันนิวาส หรือกำลังดังอยู่ในตอนนี้เรื่องพรหมลิขิต แม้กระทั่งดนตรี โขนละครต่างๆ ไทยไปลอกเลียนเขมรมาทั้งสิ้น
นายกรัฐมนตรีของเขมร คือ นายฮุนเซน เคยให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า “ให้ถามคนไทยซิว่าสมัยที่เขมรสร้างนครวัดนั้นคนไทยอยู่ที่ไหน ?”
สำหรับเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าคิด เป็นเรื่องของนักประวัติศาสตร์ของไทยจะต้องทำหน้าที่ให้คำตอบอย่างกระจ่างชัด มิฉะนั้นอาจจะเป็นปัญหาระหว่างประเทศ สร้างความเจ็บแค้นต่อกันไปอีกยาวนานเหมือนอิสราเอลและปาเลสไตน์ก็เป็นได้ ตอนนี้มีการเสี้ยมกันทางยูทูปไม่เว้นแต่ละวัน คนเขมรเห็นประเทศไทยมีความเจริญทางเศรษฐกิจกว่าก็แสดงความคิดเห็นในเชิงดูถูกเหยียดหยาม อิจฉาตาร้อนประเทศและคนไทยทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้นๆ เป็นภัยเงียบที่น่าเป็นห่วงยิ่ง
มูลเหตุแห่งการเข้าใจผิดมีอยู่ว่า มีฝรั่งชื่อ ดอห์จ คลิปตัน เคยเดินทางเข้ามาประเทศไทยแล้วเดินทางเข้าไปในมณฑลยูนนาน-กว่างสีของประเทศจีนไปพบคนที่พูดภาษาไทย (จีนเรียกว่าไต) แล้วเขียนบทความตั้งสมมติฐานขึ้นมาว่าเดิมคนไทยอยู่ในประเทศจีนแถบภูเขาอัลไตลงมา ต่อมาถูกคนจีนรุกรานต้องถอยร่นลงมาทางใต้มาตั้งอาณาจักรสุโขทัย-อยุธยาขึ้นมาตามลำดับ ประวัติศาสตร์ไทยที่สอนกันในโรงเรียนสมัยก่อนก็สอนกันแบบนั้น
ต่อมามีนักประวัติศาสตร์ชาวไทยหลายท่านไม่ได้เชื่อตามทฤษฎีนี้ ประเทศจีนก็ปฏิเสธโดยสิ้นเชิงว่าไม่มีเรื่องนี้ในประวัติศาสตร์จีน นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ไทยคนแรกชื่อสุชาติ ภูมิบริรักษ์ ที่ลี้ภัยการเมืองจากไทยไปอยู่จีนได้ลงทุนไปสำรวจตรวจสอบสถานที่ในจีนเป็นคนแรกและผลิตงานวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาว่าไม่เป็นความจริง นักประวัติศาสตร์ไทยมีนายธรรมทาส พานิช ม.จ.จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี เป็นรุ่นแรกๆ ที่ไม่เชื่อแนวคิดอันนี้ จนกระทั่งปัจจุบันนักประวัติศาสตร์ไทยไม่มีใครเชื่อเรื่องนี้กันแล้ว ส่วนใหญ่จะเชื่อว่าคนไทยเป็นชนเผ่าที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศจีน (จ้วง) ตอนเหนือของพม่า-อินเดีย (ไทยอาหมและไทยใหญ่ในรัฐฉานของพม่า) ไทยล้านนา ไทยดำ (ลาว) ไทยแดงในเวียดนาม และ ไทยทางใต้ที่อยู่กันมาตั้งแต่อาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรทวาราวดี
แต่สำหรับคนเขมรแล้วยังเชื่อว่าไทยลงมาจากจีนมารุกรุกรานเขมรตีเขมรจนแหลกลาญในสมัยอยุธยาและปล้นเอาวัฒนธรรมเขมรมาใช้จนปัจจุบัน เมื่อสมัยฝรั่งเศสมายึดเขมรไปจากไทยก็เสี้ยมสอนให้คนเขมรเกลียดชังไทย ในโรงเรียนเขมรก็ทราบว่ามีการสอนกันมาเช่นนั้น
หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย เกี่ยวกับสมัยอาณาจักรทวาราวดี-ศรีวิชัย มีไม่แพร่หลายมากนัก ผมเองได้จัดพิมพ์หนังสือแนวนี้มานับสิบเรื่องทั้งปกอ่อนปกแข็ง อาทิเรื่อง “พนม ทวาราวดี ศรีวิชัย” โดย ธรรมทาส พานิช พิมพ์เป็นหนังสือปกแข็งเดินทองที่สำนักพิมพ์แพร่พิทยาเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ เรื่อง พนม ไศเลนทร เรื่องไทยศรีวิชัยแพร่พุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ไทยสมัยศรีวิชัย ฯลฯ เรื่องหลังๆ พิมพ์เป็นสิบปีแล้วยังมีอยู่เลยครับ
จากการอ่านหนังสือและพิมพ์หนังสือเหล่านี้มาหลายเรื่องทำให้ทราบว่าไทยรับรับอารยธรรมอินเดีย เช่นศาสนาพราหมณ์และพุทธลัทธิธรรมเนียมต่างๆ มาก่อนเขมร เขมรรับวัฒนธรรมอินเดียผ่านมาทางภาคใต้ของไทย พระบรมธาตุไชยาสร้างก่อนนครวัดถึงห้าร้อยกว่าปี โบราณสถานสมัยทวาราวดีในไทยสร้างก่อนนครวัดเป็นร้อยๆ ปี (อย่างโบราณสถานที่เมืองศรีเทพที่ยูเนสโกได้รับรองว่าเป็นแหล่งอารยธรรมของโลกเมื่อเร็วๆ นี้) ที่บ้านคูบัวจังหวัดราชบุรี เราขุดพบรูปคนไทยเล่นดนตรีไทย กระจับปี่สีซอกันมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยทวาราวดี คนไทยสร้างสิ่งก่อสร้างด้วยไม้และอิฐความคงทนถาวรจึงมีน้อยกว่าที่เขมรสร้างด้วยหิน และสร้างขึ้นมาหลังจากอาณาจักรทวาราวดีและศรีวิชัยที่มีคนไทยอยู่ก่อนแล้ว
แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในวัฒนธรรมไทยมีวัฒนธรรมเขมรรวมอยู่ด้วย ภาษาก็ปะปนอยู่มาก เพราะเป็นดินแดนที่อยู่ร่วมกันใกล้ชิดกัน เหมือนเขมรที่รับวัฒนธรรมไทย เช่นการฟ้อนรำแบบไทยที่รับไปสมัยรัชกาลที่ ๒ บรรพบุรุษของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังไปเป็นครูฝึกให้ตามที่ท่านได้เขียนเล่าไว้ พระสงฆ์ธรรมยุตนิกายที่เกิดในไทยสมัย ร.๓ ก็มีอยู่ในเขมรปัจจุบัน ส่วนการนุ่งโจงกระเบนนั้นมันเป็นการนุ่งแบบอินเดีย คนไทยในสมัยศรีวิชัยก็เอามานุ่งกันอยู่ก่อนแล้ว ในจดหมายเหตุของพระอิจิงที่มาภาคใต้ของไทยสมัยราชวงศ์ถังก็บันทึกไว้ว่าชาวพื้นเมืองนุ่ง “คัมมัน” คือผ้าผืนเดียว คือผ้าโจงกระเบนนั่นเอง
เราต่างรับวัฒนธรรมอินเดียกันมาด้วยกัน สิ่งเหล่านี้มาทางเรือในสมัยโบราณ เขมรถือพุทธปนกับพราหมณ์เหมือนคนไทยที่รับกันมาจากอินเดีย เราเป็นชาติที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันมาก่อน
ที่อินเดียปัจจุบันเรายังเห็นแขกขายถั่วนุ่งโจงกระเบนด้วยผ้าสีขาวเดินว๊อดแว๊ดๆ อยู่ที่ไป เขายังไม่ทวงเลยว่าเขมรไปลอกเลียนเขามา ที่อินเดียมีวิหารแกะสลักรูปท่าร่วมเพศแบบต่างๆ ด้วยหินอายุเป็นพันปี ถ้าโบราณสถานนั้นเป็นของเขมรคงจะต้องทึกทักเอาว่ามนุษย์ทั่วไปเอาอย่างเขมรเป็นแน่
มีความรู้สาขาประวัติศาสตร์แค่ปริญญาตรีไม่ได้เป็นด๊อกเตอร์ด๊อกตีนอะไรกับเขา แค่ชอบอ่านมาก เที่ยวมาก (ลงสนาม) จึงเอาภาพเก่าๆ มาคุยกันเล่นครับ (ขอขอบคุณบางภาพจากอินเตอร์เน็ตด้วยครับ)
อรุณ เวชสุวรรณ