ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

พฤติกรรม จนท.กองคลัง สำนักปลัดมหาดไทย ทุจริต ‘เงินยืมราชการ’ 19.9 ล.


23 มีนาคม 2022, 15:58 น.

 

พฤติกรรม จนท.กองคลัง สำนักปลัดมหาดไทย ทุจริต ‘เงินยืมราชการ’ 19.9 ล.

 

เปิดคำสั่ง คกก. ธุรกรรม ปปง. ดูความเป็นมา-พฤติกรรม คดีเจ้าหน้าที่การเงินฯ กองคลัง สำนักงานปลัดมหาดไทย ยักยอกเงิน ‘ยืมราชการ’ ไม่ส่งคืนหน่วยงานต้นสังกัด เบียดบังเข้าส่วนตัว เสียหาย 19.9 ล. ก่อนถูกแจ้งความ สั่งไล่ออก ตามยึดทรัพย์ซ้ำ

กรณีสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) มี คําสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว รายนางสาวกัลยาภัสร์ ใจขาน เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีชํานาญงาน สังกัดกองคลัง สํานักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ทรัพย์สินที่อายัดเป็นบัญชีเงินฝากที่อยู่ในชื่อบุคคลต่างๆรวม 7 บัญชี วงเงินรวม 116,820.57 บาท เนื่องจากกระทำทุจริตต่อหน้าที่ราชการ โดยยักยอกเงิน จำนวน 19,979,218.16 บาท เป็นเงินที่มีผู้ยืมเงินทําเรื่องคืนเงินยืมราชการ นางสาวกัลยาภัสร์ ไม่ได้นําเงินที่รับมาส่งคืนกองคลัง แต่ได้เอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตนเอง

 

ตามที่ สำนักข่าวอิศรา http://www.isranews.org รายงานแล้ว

 

คราวนี้มาดูที่มาที่ไปและพฤติการณ์ของกรณีดังกล่าวตามที่ปรากฎในเอกสารคำสั่งอายัดทรัพย์สิน ของ ปปง. สำนักข่าวอิศราเรียบเรียงมารายงานอย่างชัด ๆ

 

ด้วยสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงาน จากสํานักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ตามหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ มท 0208.3(ล)/5963 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2563 เรื่อง ขอความร่วมมือดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทําการทุจริตทางการเงิน รายนางสาวกัลยาภัสร์ ใจขาน ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา กล่าวคือ เมื่อประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 จนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 นางสาวกัลยาภัสร์ ใจขาน เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีชํานาญงาน สังกัดกองคลัง สํานักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้มีอํานาจหน้าที่ลงนามรับเงิน ตามคําสั่งของกองคลัง สํานักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

 

โดยในการปฏิบัติหน้าที่นั้นเมื่อมีผู้ยืมเงินทําเรื่องคืนเงินยืมราชการ ในกรณีคืนเป็นใบสําคัญรับเงินจะออกเป็นใบเสร็จรับใบสําคัญรับเงิน และในกรณีคืนเป็นเงินสดจะตรวจนับเงินและออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ยืมไว้เป็นหลักฐาน แต่นางสาวกัลยาภัสร์ ใจขาน ได้นําใบเสร็จรับเงินของสํานักงานจังหวัดระนอง ซึ่งมิใช่ใบเสร็จรับเงินที่กองคลัง สํานักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเบิกมาใช้ออกให้กับลูกหนี้เงินยืมที่นําเงินสดมาส่งใช้เงินยืม และในบางกรณีนางสาวกัลยาภัสร์ ใจขาน ไม่ได้ออกใบเสร็จรับใบสําคัญรับเงินหรือใบเสร็จรับเงินให้แต่อย่างใด ทั้งนี้ นางสาวกัลยาภัสร์ ใจขาน ไม่ได้นําเงินที่รับมาส่งคืนกองคลัง สํานักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ได้เอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตนเองโดยทุจริต รวมเป็นเงินจํานวน 19,979,218.16 บาท

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 สํานักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยผู้รับมอบอํานาจได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตํารวจนครบาลสําราญราษฎร์ ให้ดําเนินคดีกับนางสาวกัลยาภัสร์ ใจขาน ซึ่งพนักงานสอบสวน สถานีตํารวจนครบาล สําราญราษฎร์ ได้ส่งสํานวนการสอบสวนคดีอาญารายนางสาวกัลยาภัสร์ ใจขาน ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดําเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 62

 

ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติส่งเรื่องกล่าวหาดังกล่าวให้พนักงานสอบสวน สถานีตํารวจนครบาลสําราญราษฎร์ ดําเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 61 วรรคสอง ซึ่งได้รับคําร้องทุกข์ไว้เป็นคดีอาญาที่ 372/2561 ลงวันที่ 26 กันยายน 2561 พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานและมีความเห็นควรสั่งฟ้อง รายนางสาวกัลยาภัสร์ ใจขาน ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือ ของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ มาตรา 157 และได้ส่งสํานวนการสอบสวน ให้พนักงานอัยการฝ่ายคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางแล้ว

 

ต่อมาสํานักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง นางสาวกัลยาภัสร์ ใจขาน และคณะกรรมการ สอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ของนางสาวกัลยาภัสร์ ใจขาน เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและฐานกระทําการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 85 (7) และมาตรา 85 (1) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ พลเรือน พ.ศ. 2551 เห็นควรลงโทษไล่นางสาวกัลยาภัสร์ ใจขาน ออกจากราชการ โดยคําสั่งลงโทษให้มีผล ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2561

 

จากพฤติการณ์ดังกล่าว นางสาวกัลยาภัสร์ ใจขาน ได้กระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางสาว กัลยาภัสร์ ใจขาน กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดดังกล่าว

 

ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 11/2564 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 590/2564 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รายนางสาวกัลยาภัสร์ ใจขาน กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ดําเนินการตรวจสอบรายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่านางสาวกัลยาภัสร์ ใจขาน กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทํา ความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทําธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด จํานวน 7 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทํา ความผิดในคดีนี้เป็นสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้น ได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคําสั่งให้อายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือ ผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว ไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถ ติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางสาวกัลยาภัสร์ ใจขาน กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด และอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้น ทรัพย์สินดังกล่าว

 

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคําสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 7 รายการ พร้อมดอกผล มีกําหนด ไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2565 โดยมีรายการทรัพย์สินที่อายัดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคําสั่งนี้

 

ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย

 

ทั้งหมดคือที่มาของคดีนี้ นำไปสู่คำสั่งอายัดทรัพย์สิน 7 รายการ นางสาวกัลยาภัสร์ ใจขาน

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการดำเนินคดีอาญา ยังไม่มีข้อมูลว่า คดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมแล้วหรือยัง และผลคำพิพากษาเป็นอย่างไร ?

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

เรื่องล่าสุด