“ศุภมาส” หารือ รมว.เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น หนุนพัฒนากำลังคนผ่าน “สถาบันโคเซ็น” พร้อมสร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่และสร้างสังคมที่เข้มแข็งของทั้งสองประเทศ
วันที่ 6 พ.ย.2566 : นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อม พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.กระทรวง (อว.), รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง (อว.) และผู้บริหารกระทรวง (อว.) ให้การต้อนรับ นายนิชิมูระ ยาซูโตชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Ministry of Economic,Trade and Industry–METI) และคณะ ณ ห้องรับรองพระจอมเกล้า ชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง (อว.) (โยธี)
นางสาวศุภมาสฯ กล่าวว่า ไทยและญี่ปุ่นเป็นทั้งมิตรและหุ้นส่วนความร่วมมือที่สำคัญต่อกัน ในปี 2566 นี้ เป็นปีที่ทั้งสองประเทศได้ประสานความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-ญี่ปุ่น ครบรอบ 50 ปี ซึ่งประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็น Country Coordinator ระหว่างปี 2564-2567 โดยได้มีการจัดกิจกรรมขึ้นหลากหลายโครงการ เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการ ผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การประชุม JASTIP Session เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น สู่ปี 2050 การประชุม ASEAN Space Workshop ภายใต้หัวข้อ Space Weather และ การจัดงาน ASEAN Innovation Week ในหัวข้อที่เกี่ยวกับ Carbon Neutrality และ ASEAN Green Economy เป็นต้น ที่สำคัญ เมื่อช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ตนยังได้มีโอกาสพบปะกับหน่วยงานภาคเอกชนและหน่วยงานพันธมิตรด้านอวกาศของประเทศญี่ปุ่นในงาน Thailand Space Week 2023 โดยได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรมด้านอวกาศ รวมทั้งด้านอื่นๆ ร่วมกันอีกด้วย
รมว.กระทรวง (อว.) กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ หน่วยงานของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ องค์การพัฒนาพลังงานและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมใหม่ (NEDO) ยังได้มีการลงนามความร่วมมือภายใต้กรอบ BCG Model ของประเทศไทยและ Green Growth Strategy ของประเทศญี่ปุ่น เป็นการสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ นักวิจัย และภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ เพื่อมุ่งหวังไปสู่การพัฒนานวัตกรรม ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมถึงด้านการศึกษาร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต
“ขณะที่ ในด้านการพัฒนากำลังคน กระทรวง (อว.) ยังได้จัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็นในประเทศไทย ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น เพื่อผลิตวิศวกรนักปฎิบัติโคเซ็น ที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งนี้ นักศึกษารุ่นแรกกำลังจะจบการศึกษาในปี 2567 นี้ ซึ่งตนเชื่อว่าบัณฑิตจากสถาบันโคเซ็นจะเป็นที่ต้องการและได้ทำงานในภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ และพวกเขาเหล่านี้จะเป็นความหวังในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทยต่อไป”
ด้าน นายนิชิมูระฯ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทยานยนต์ของญี่ปุ่นจำนวนมากเข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจในไทยนับเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญและนำไปสู่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน โดยนโยบายของญี่ปุ่นมุ่งเน้นการร่วมสร้างสรรค์ (Co-creation) ผ่านโครงการความร่วมมือ เชิงนวัตกรรมในลักษณะที่เป็น flagship program อาทิ การใช้ดิจิทัลเพื่อความก้าวหน้าด้านการเกษตร AI การแพทย์ยุคใหม่ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง (อว.) ทั้งนี้ ขอขอบคุณ รมว.กระทรวง (อว.) ที่เชื่อมั่นในนวัตกรรมและองค์ความรู้ของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงให้การต้อนรับเป็นอย่างดีเสมอมา ประเทศญี่ปุ่นยินดีสร้างนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่และสร้างสังคมที่เข้มแข็งของทั้งสองประเทศ