ปฏิวัติ 10 ชั่วโมง 9 กันยา ไม่มาตามนัด “สิงห์ทะเลทราย” หมดสภาพ
จากกรณีกลุ่ม “ยังเติร์ก” ก่อการปฏิวัติ เมื่อ 1-3 เมษายน 2524 ล้มเหลว จนกลายเป็น “กบฏ” ไปทั้งคณะ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐบาลบริหารประเทศต่อไป ท่ามกลางปัญหา ความตกต่ำทางเศรษฐกิจ และความไม่ลงรอยของพรรคการเมือง ร่วมรัฐบาล..
ห้วงเวลานั้น “พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก” ได้รับการสนับสนุน ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นขั้วอำนาจ ที่สามารถผันแปร วิถีทางวงการเมืองได้เช่นกัน
“บนเส้นทางแห่งอำนาจนั้น ความขัดแย้ง ประหนึ่งขนาบ อยู่ทั้งสองฟากฝั่ง ของเส้นทางสายนี้”
ความขัดแย้งทางความคิด เริ่มก่อตัวขึ้น ระหว่าง “พล.อ.เปรม” นายกรัฐมนตรี และ “พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก” ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงค่อยเพิ่มพูนมากขึ้น ตามวันเวลาที่ผ่านไป กระทั่ง พล.อ.เปรมฯ ตัดสินใจ ประกาศลดค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2527
“พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก” ซึ่งเปล่งรัศมีมาก ช่วงนั้น แสดงออกด้วยท่าทีแข็งกร้าว ในรายการ “สนทนาปัญหาบ้านเมือง” โดยออกอากาศ แพร่ภาพ ทีวี ช่อง 5 บางตอนกล่าวว่า..
“คราวนี้ลดมากเหลือเกิน !” ลดมาจาก 23 บาท เป็น 27 บาทนะครับ มันรุนแรงเหลือเกิน แรงจนกระทั่งกระทบกระเทือน ต่อการพัฒนากองทัพ “ผมจะซื้อรถถัง เครื่องบิน กระสุนมายิง กับเขาที่ชายแดน ก็ต้องถกจำกัดไปหมด !”
แม้กระทั่งผมจะซื้อนํ้ามัน เพื่อเคลื่อนย้ายกำลัง ไปป้องกันประเทศ ก็ถูกจำกัดไปหมด นี่เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเท่านั้น ที่เดือดร้อน เพราะฉะนั้น “ผมในฐานะรับผิดชอบ ทั้งสามเหล่าทัพ จะไม่ให้เดือดร้อนใจ อย่างไร ?”
นับจากนั้น ความไม่ลงรอย ระหว่าง พล.อ.เปรมฯ และ พล.อ.อาทิตย์ ก็เริ่มเพิ่มรอยถ่าง เรื้อรังต่อเนื่องมาเรื่อยๆ แต่ทั้งสองฝ่าย ยังทำงานในความรับผิดชอบ ของตนต่อไป !
ขณะที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ของพล.อ.เปรมฯ พยายาม หาทางแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน บุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่พอใจการบริหารประเทศ ของคณะรัฐบาล ก็รวมตัวกันหาโอกาส ช่วงชิงอำนาจปกครอง มาสู่กลุ่มตนอย่างเงียบๆ อีกครั้งหนึ่ง
ความคิดในการยึดอำนาจ พล.อ.เปรมฯ มีการวางแผน เคลื่อนไหวมานานพอสมควร โดยมีนายทหารนอกประจำการ “คนหน้าเดิม” เป็นแกนนำ มีกลุ่มการเมือง กลุ่มนักธุรกิจ ที่ล้มเหลวจากสถาบันการเงินนอกระบบ เข้าร่วมด้วย
“ต้นเดือนกันยายน 2528 พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผบ.ทบ. และ ผบ.สส. เดินทางไปราชการที่ประเทศสวีเดน “
วันที่ 8 กันยายน 2528 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีกำหนดการเยือนประเทศอินโดนีเซีย ก่อนเดินทางเล็กน้อย “ฝ่ายข่าว” ยืนยันมาว่า จะมีการ “ปฏิวัติ” แน่นอน ! โดยฉวยโอกาสลงมือ ขณะที่ “ป๋า” ไม่อยู่ในประเทศ แต่ พล.อ.เปรมฯ ไม่ยอมเปลี่ยนหมายกำหนดการเยือนต่างประเทศแต่ประการใด เพียงแต่เรียก “บิ๊กจิ๋ว” พล.โท.ชวลิต ยงใจยุทธ (ยศขณะนั้น) มาพบ และมอบหมายภาระกิจสำคัญให้ หากเกิดการปฏิวัติ ขึ้นจริงๆ
“เช้าตรู่วันที่ 9 กันยายน 2528 ทหารกลุ่มหนึ่ง ก่อการรัฐประหาร บุกเข้าจับตัว พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปเตมีย์ ผบ.ทอ. จากบ้านพัก นำไปเป็นตัวประกันที่ “สนามเสือป่า” จากนั้นก็ออกแถลงการณ์ ทางวิทยุ โทรทัศน์ ปฏิบัติการจิตวิทยาทันที
คณะปฏิวัติ มีกำลังทหารร่วมก่อการประมาณ 500 คน มีกองกำลังรถถัง จากกองพันทหารม้า ที่ 4 รอ. และกรมอากาศโยธิน จำนวนหนึ่ง แกนนำคุมกำลังคณะปฏิวัติมี “พ.อ.มนูญ รูปขจร นายทหารนอกประจำการ น.อ.มนัส รูปขจร จาก กรมอากาศโยธิน” นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ร่วมก่อการ รู้เห็น มี “พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์, พล.อ.เสริม ณ นคร, พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, พล.อ.กระแส อินทรัตน์ อดีต ผบ.สส. และผู้นำแรงงานฯ พลเรือนส่วนหนึ่ง วางแผนพบปะ ที่โรงแรมบารอน แถวรัชดาฯส่วนหนึ่ง
“พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” ฝ่ายรัฐบาล ได้ตั้งกองบัญชาการรักษาความสงบภายใน ขึ้นอย่างฉับพลัน กำลังพลจาก “จปร.รุ่น 5” ที่คุมกำลัง มี “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” เป็นแกนนำ ได้เคลื่อนกำลังออกจากที่ตั้ง เข้ารักษาการณ์ตามจุดสำคัญต่างๆ ตามแผนโต้ตอบ ซึ่ง “พล.อ.ชวลิต” วางไว้ล่วงหน้า
การช่วงชิงความได้เปรียบ เสียเปรียบ ระหว่างกองบัญชาการคณะปฏิวัติ กับ กองบัญชาการอำนวยการรักษาความสงบภายใน ของรัฐบาล ดำเนินไปด้วยความเข้มข้น ทั้งทางวิทยุ และแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ ท่ามกลาง ความสับสนของประชาชน ที่เฝ้ารับชมรับฟังไปเรื่อยๆ
“ทั้งสองฝ่าย ต่างมีคำสั่ง ให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ทั้ง 3 เหล่าทัพ นายตำรวจ และข้าราชการระดับสูง เข้ามารายงานตัว ที่กองบัญชาการของตน”
“พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” รายงานเหตุการณ์ ทั้งหมดไปยัง พล.อ.เปรมฯ ที่ อินโดนีเซีย และเดินทางกลับไทยด้วยเครื่องบิน ดี.ซี. 10 กองทัพอากาศ โดยให้เครื่องบินลงที่สนามบินหาดใหญ่ เพื่อประเมินสถานการณ์ ก่อนบินเข้ากรุงเทพฯ
ขณะที่ “พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก” ได้เดินทางจากสวีเดน มุ่งหน้าสู่ประเทศไทยด้วย โบอิ้ง 747 ของการบินไทย โดยได้ประสาน ” สั่งการ” จากเครื่องบิน ให้ “พล.อ.ชวลิตฯ” ควบคุมสถานการณ์เอาไว้ จนกว่าจะมาถึง
ฝ่ายก่อการปฏิวัติ ถูกกดดันมาก จนเกิดความเครียด มองไม่เห็นทางเอาชนะได้เลย วันเวลายิ่งผ่านไปคณะปฏิวัติถูกโดดเดี่ยวให้สู้ตามลำพัง เพราะกำลังเสริมที่นัดเอาไว้ กลับไม่มาตามนัด !
ก่อนถึงนาทีวิกฤติ “พล.ท.พิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 (ยศขณะนั้น)” ได้ติดต่อเข้ามา บอกกับ “บิ๊กจิ๋ว” ว่าจะเจรจา กับฝ่ายปฏิวัติเอง
จากนั้นอีกหนึ่งชั่วโมงต่อมา เหตุการณ์เริ่มสงบ เมื่อฝ่ายผู้ก่อการฯ ยอมวางอาวุธ รถจี้ปสิงห์ทะเลทราย ไร้คนขับเคลื่อนจอดข้างทาง เป็นแถว
“พ.อ.มนูญ รูปขจร” ถูกส่งตัวออกนอกประเทศ นายทหารชั้นผู้ใหญ่นอกประจำการ ซึ่งร่วมรู้เห็นก่อการ ได้รับการปล่อยตัว กลับบ้าน เพื่อรอดำเนินการต่อไป (ตัดตอนจาก เปิดบันทึกยุทธการรบแตกหัก ของบิ๊กจิ๋ว)
รัฐประหารครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 17 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดย “พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์” รอง ผบ.ทบ. ขณะนั้น ตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบภายในขึ้นมาต่อต้าน ได้มีการปะทะ ระหว่างทหารของฝ่ายกบฏ กับฝ่ายรัฐบาล ที่หน้ากองพลที่ 1 รอ. เสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บ 50 คน ทรัพย์สินเสียหาย หลายสิบล้านบาท
“รัฐประหารครั้งนี้ ใช้เวลา 10 ชั่วโมง กระทั่ง 17.00 น. ของวันเดียว ฝ่ายกบฏ ยอมจำนน”