สวทช. – พันธมิตร เยี่ยมชมผลสำเร็จ
ผลงานการพัฒนาศักยภาพครูและนักเรียนโรงเรียน ตชด. บ้านหม่องกั๊วะ
(19 มีนาคม 2565) ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (บ้านหม่องกั๊วะ) อ.อุ้มผาง จ.ตาก : นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานเปิดนิทรรศการเผยแพร่ผลงานการพัฒนาศักยภาพครูและนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ด้านการพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาทักษะอาชีพด้านการตลาดดิจิทัล ภายใต้โครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบประจำปี 2564 โดยมี พ.ต.อ.ศุภวัฒน์ ศรีชัยชนะ ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดน 34 ให้การต้อนรับและทำหน้าที่แทน พล.ต.ต.สมกูล กาญจนอุดมการ ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวฯ เกิดขึ้นสืบเนื่องจาก สวทช. ร่วมกับ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เปิดการอบรมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพครูและนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านการพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาทักษะอาชีพด้านการตลาดดิจิทัล ประจำปี 2564 โดยมีหน่วยงานพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและเอกชนร่วมสนับสนุนโครงการฯ ประกอบด้วย กองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยร่วมเป็นคณะทำงาน ให้คำปรึกษาและติดตามผลการดำเนินงานร่วมกันทั้งในรูปแบบออนไลน์และการลงพื้นที่นิเทศติดตาม และเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาตลอดกิจกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนและช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
สำหรับการเปิดกิจกรรมครั้งนี้มีการรายงานผลการจัดกิจกรรมการพัฒนาทักษะดิจิทัล : เพื่อเพิ่มสมรรถนะการเรียนรู้และส่งเสริมทักษะอาชีพด้านการตลาดดิจิทัลโดย ครูใหญ่สมดุลย์ โพอ้น นายดาบตำรวจชำนาญการพิเศษ ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (บ้านหม่องกั๊วะ จ.ตาก) การบรรยายสรุปผลการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล : กิจกรรมพัฒนาการศึกษา โดย รศ. ดร.สุรพล บุญลือ ที่ปรึกษาโครงการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี การบรรยายสรุปผลการพัฒนาผู้เรียนการพัฒนาทักษะอาชีพด้านการตลาดดิจิทัล โดย ผศ. บุญเลี้ยง แก้วนาพันธ์ ที่ปรึกษาโครงการ ประธานหลักสูตรมีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
นอกจากนี้มีการเปิดนิทรรศการเผยแพร่ผลงานของครู ผู้เรียน และชาวบ้านในชุมชนบ้านหม่องกั๊วะ ประกอบด้วย การแปรรูปผลิตภัณฑ์ (ไผ่) กลุ่มแปรรูปอาหาร (พริก, กาแฟ) กลุ่มผ้าทอ นิทรรศการผลิตไฟฟ้าส่องสว่างด้วย LED แบบพึ่งพาตนเอง และการแสดงผลงานนักเรียนด้านการพัฒนาสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ และร่วมสนับสนุนผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากทางโรงเรียน รวมทั้งมีการเปิดตัวเว็บไซต์ช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์บ้านหม่องกั๊วะ
อย่างไรก็ดี โครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบ ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีความห่วงใยต่อโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในด้านการศึกษา ซึ่งมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ร่วมกับ สวทช. ได้ดำเนินโครงการนำร่องการบริหารระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบ ค้นหาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศอย่างเป็นระบบ
โดยจุดเริ่มต้นโครงการฯ มาจากพระราชกระแส ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงเรียนในพื้นที่ชายขอบยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งเมื่อเขามีไฟฟ้าใช้จะทำให้มีโอกาสด้านการเรียนมากขึ้น เด็กก็จะมีคอมพิวเตอร์ใช้ มีแท็บเลตใช้ และโรงเรียนก็มีช่องทางสื่อสารกับเรามากขึ้น การสื่อสารที่ดีทำให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งด้านความรู้ ด้านการแพทย์ การอาชีพและอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญ 4 ประการคือ 1. เพื่อการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพครู ตชด. ด้านการประยุกต์ใช้ไอซีที 2. เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้านการตลาดดิจิทัล (มีพื้นที่นำร่อง 1 แห่ง) 3.เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการการพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และ 4. เพื่อส่งเสริมศักยภาพชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเรื่อง “การผลิตไฟฟ้าส่องสว่างด้วย LED แบบพึ่งพาตนเอง” มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 23 แห่ง คือ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 14 แห่ง ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง จำนวน 8 แห่ง และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1 แห่ง โดยมีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสนับสนุนการดำเนินงานด้านการบำรุงรักษาระบบผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และระบบโทรมาตร และบริษัทแอดวานซ์ อินโฟว์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุนด้านระบบโทรคมนาคมเพื่อการสื่อสาร
////////////////////////////