“ทรราช” ต้องมีองค์ประกอบ 2 ประการคือ “ฆ่า” และ “โกง”
31 ตุลาคม 2566 ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ Facebook “ดร. ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” โดยระบุว่า…
เรื่องนี้ผมก็เพิ่งรู้… เจอคนดี ผมก็ต้องบอกว่าดี เจอคนพูดจาไม่ดี ผมก็ตักเตือน
วานนี้ ผมได้มีโอกาสฟังการเสวนาทางการเมืองที่ช่อง The Nation (ช่อง22) จัดขึ้น แล้วได้นำเทปมาออกอากาศอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเนื้อหาที่ได้ยินนั้นน่าสนใจและเป็นครั้งแรกเหมือนกันที่ผมเคยได้ยินเรื่องนี้ ผมจึงได้ข้อสรุป และเขียนมาให้ทุกท่านอ่านตามนี้ครับ
นายภูมิธรรม เวชยชัย จากพรรคเพื่อไทย คือคนที่พยายามอธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจว่า การจัดรัฐบาลผสมที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำนั้น มันก็คือการนำพรรคต่างๆ ที่พอจะรับความคิดหรือนโยบายที่แตกต่างกันในบางส่วน รัฐบาลผสมในปัจจุบันของไทยเป็นรัฐบาลสลายขั้ว สลายสี …แต่ก็มีบางคนแย้งว่าไม่ใช่เป็นการสลายขั้ว สลายสีจริง เพราะยังมีพรรคก้าวไกลที่ดูเสมือนเป็นขั้วอีกขั้วหนึ่งที่มีความเห็นในเรื่องต่างๆ แทบจะขาวเป็นดำกับรัฐบาลในปัจจุบัน และตอนนี้ก็เป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีความเข็มแข็ง …แต่พรรคต่างๆ ที่ให้ความเคารพต่อความเห็นต่างในบางส่วนก็สามารถทำงานร่วมกันได้ แต่ทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลกันก็เพราะ ล้วนมีความเห็นและนโยบายในส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยแตกต่างกัน เช่น…
- อยากให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ต้องพอเหมาะพอสมกับบริบทต่างๆ ของประเทศ ที่สำคัญก็คือต้องไม่กระทบต่ออธิปไตยของชาติ ไม่กระทบต่อเสถียรภาพในความมั่นคงของชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์
- ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนให้ลดน้อยถอยลง เป็นสิ่งที่ทุกพรรคล้วนอยากทำทุกอย่างให้ ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
- พัฒนาระบบยุติธรรมให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คืออีกสิ่งที่ทุกพรรคต้องการ โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ อัยการ และการทำงานของกรมราชทัณฑ์ ที่ล้วนมีส่วนทำให้ระบบยุติธรรมของเราได้ตกต่ำถึงที่สุดนับตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมา เป็นต้น
ซึ่งเรื่องที่ผมบอกว่าเป็นเรื่องที่ผมก็เพิ่งเคยรู้คือ คุณภูมิธรรม ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และผม มีอะไรที่คล้ายๆ กันกว่าที่คิด เราเคยได้รับประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์กันทั้งสิ้น กล่าวคือ พวกเราล้วนถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นอันตรายต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยคณะรัฐประหารที่ทำโดยพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ที่ยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และอีกสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือในห้วงเวลาที่เราต่อสู้ เราไม่เคยทิ้งประชาชน ในวันที่แกนนำหลายๆ คนชวนคุณภูมิธรรมให้หนีเมื่อมีข่าววงในเข้ามาว่าทหารจะส่งคนเข้ามาปราบคณะประท้วงซึ่งตอนนั้นปักหลักกันในมหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ คุณภูมิธรรมปฏิเสธที่จะหนีด้วยเหตุผลว่า “มันไม่แฟร์ ผมเป็นคนปลุกระดมเขามา ผมหนีเอาตัวรอดคนเดียวไม่ได้ ผมต้องตายเคียงข้างพวกเขา”… ซึ่งในที่สุด เมื่อการต่อสู้ไปถึงขีดสุด คุณภูมิธรรมก็ต้องหนีเข้าป่า ดร.ป๋วย ต้องหลี้ภัยไปอยู่อังกฤษ ผมต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ผมขอใช้จังหวะนี้อธิบายให้หลายๆ คนที่เข้าใจผิดด้วย การที่คนอย่าง ดร.ป๋วย ตัวผมเอง คุณภูมิธรรม และคนอื่นๆ ที่ต้องหนีเข้าป่านั้น ก็เพื่อความปลอดภัยของตนเองทั้งๆ ที่มิได้มีความคิดเป็นคอมมิวนิสต์นะครับ #ผมไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ใครที่เกิดทันในช่วงนั้น จะเข้าใจถึงระดับความรุนแรงของการปราบปราม (เด็กรุ่นใหม่อาจจะยังไม่เคยเจอความรุนแรงขนาดที่เราเคยเจอ เช่น การเอาร่างไปแขวนต้นมะขาม) พวกเราที่เป็นกลุ่มนักสู้ จำเป็นต้องทำบางอย่าง ด้วยเหตุผลเพื่อมิให้ถูกจับกุมหรือถูกทำร้ายร่างกาย และคร่าชีวิตโดยพวกขวาจัดที่สนับสนุนคณะปฏิวัติในขณะนั้นเพียงเท่านั้น (แต่ก็อาจจะมีบางส่วนนะครับ ที่เมื่อเข้าป่าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้ว ก็ได้ซึมซับปรัชญาและแนวคิดของ คาร์ลมาคส์ เลนิน และ เมาเซตุง มาแบบที่ว่าไม่สามารถสกัดให้หลุดออกไปได้จากความจดจำของเขา (ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า “สัญญา”) …หลายๆ คนก็ยังมีการแสดงออกในทางการเมืองยุคปัจจุบัน ที่ประชาชนคนไทยทุกท่านก็น่าจะพอสังเกตุได้ว่าคือใครบ้าง
ที่แน่ๆ คือผมไม่เคยระแวงในความเป็นคอมมิวนิสต์ของคนอย่างคุณภูมิธรรม และอีกหลายๆ คน เช่น คุณเสกสรร ประเสริฐกุล คุณหมอพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช คุณเทิดภูมิ ใจดี และคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ซึ่งบางคนนี้ก็กลายมาเป็นบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน (แต่ผมก็ยังระแวงอีกหลายๆ คนที่มิได้อยุ่ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ว่าจะอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล หรืออยู่ในพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งยังไม่สามารถสลัดความคิดที่ท่องมาจากความคิดของ คาร์ลมาคส์ เลนิน และเมาเซตุง จึงกลายเป็นตัวสร้างความแตกแยกความสามัคคีของคนในชาติ อยู่ในปัจจุบัน)… เมื่อมีคนมีอุดมการณ์เหล่านี้ในคณะรัฐบาล เราน่าจะมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าประเทศไทยจะยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผมก็ฝากความหวังไว้ด้วยนะครับว่าทุกๆ ท่านจะบริหารบ้านเมืองกันอย่างดี อย่าปล่อยให้มีการโกงกินกันจนประชาชนทนไม่ไหว ต้องให้เกิดการรัฐประหารอีกเลยนะครับ เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราก็โชคดีเพียงแค่ครั้งเดียวที่คนรัฐประหารเป็นคนดี รักชาติ และมีใจเป็นนักพัฒนาเช่นท่าน ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สร้างความเจริญให้กับประเทศอย่างมหาศาลตั้งแต่เข้าสู่อำนาจ… แต่นอกนั้นนะครับ การรัฐประหารอื่นๆ ที่ผ่านมาก็มาคู่กับความรุนแรงและการโกงกินทั้งนั้นครับ
#หมายเหตุ ผมอยากฝากแง่คิดให้กับคนรุ่นใหม่ที่ชอบอ่านหนังสือและเชื่อในสิ่งที่ตนอ่าน… พวกเอกสาร ข้อเขียน หนังสือ และ ตำราของ คาร์ลมากซ์ เลนิน และเมาเซตุง ทั้งสิ้นที่เป็นต้นน้ำของลัทธิคอมมิวนิสต์ ผมก็เคยอ่านมามากแล้วเช่นเดียวกันนะครับ แต่ผมไม่เคยตกเป็นทาสของมัน เพราะผมประมวลแล้วว่ามันไม่เหมาะกับบริบทของสังคมไทย อาจเลือกมาใช้บางอย่างได้ เช่นเดียวกับระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม ก็ควรจะเลือกเฉพาะที่เหมาะสมกับประเทศไทย #อย่าเป็นขี้ข้าทางความคิดของพวกนักคิดตะวันตก จนไม่เหลือความเป็นตัวของตัวเองกันเลยครับ
เพิ่มเติมอีกสักนิดเกี่ยวกับการใช้ภาษาของนักการเมืองรุ่นใหม่ด้วยนะครับ คำว่า “ทรราช” ต้องมีองค์ประกอบ 2 ประการคือ “ฆ่า” และ “โกง” นะครับ… หลายๆ ท่านยังไม่เคยเกิดขึ้นมาในยุคที่มีทรราชจริงๆ เช่น ฮิตเลอร์ จอมพลสฤษดิ์ เป็นต้น แม้ว่าท่านประยุทธ์จะทำรัฐประหารก็จริง แต่ไม่เคยสั่งฆ่าคนที่ออกมาเดินขบวนด่าท่าน และตัวท่านเองไม่เคยโกงกิน …ถ้าผู้นำคนใดไม่ได้ทำทั้งคู่ ก็ไปซี้ซั้วเรียกเขาว่าทรราชไม่ได้นะครับ และแถมอีกนิดว่าการที่ท่านพาครอบครัวไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยเงินบริสุทธิ์ที่ท่านอดออมด้วยน้ำพักน้ำแรง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ใครควรที่จะมาประนามนะครับ
……………………………..
ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี
อดีตรองนายกรัฐมนตรี