ครั้งแรก วช. – สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ โชว์จัดเต็มเหนือน่านฟ้าริมน้ำโขง โดรนแปรอักษร 500 ลำ ในงานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม ปี 66
เมื่อช่วงค่ำ ของวันที่ 20 ต.ค. 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ นำโดรน จำนวน 500 ลำ แปรอักษร ร่วมในพิธีงานประเพณีไหลเรือไฟของจังหวัดนครพนม และงานกาชาดจังหวัดนครพนม ประจำปี 2566 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-30 ตุลาคม 2566 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มการท่องเที่ยว และเพิ่มขีดความสามารถ ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม สำหรับการแสดงบินโดรนแปรอักษร จะทำการแสดงตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2566 นี้ ที่บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
นอกจากการนำโดรนแปรอักษรมาโชว์ในครั้งนี้ (วช.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม โครงการ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดรนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมฯ พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก (วช.) ร่วมในพิธีเปิด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ “โดรน” ผ่านกิจกรรมการถ่ายทอดการบินโดรนแปรอักษร โดย นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เป็นหัวหน้าโครงการฯ พร้อมนี้ นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายทนงชัย เจริญรัตน์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1 นครพนม นายชยพัทธ์ มะแม้น ผู้อำนวยการ (กสทช.) เขต 25 นายเนติชนม์ ยศแผ่น พนักงานกองกำกับมาตรฐานและการจราจรระบบอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมในพิธีเปิดการอบรมฯ ณ หอประชุมวิทยาลัยเทคนิคนครพนม (วิทยาลัยสารพัดช่างนครพนมเดิม) จังหวัดนครพนม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) กล่าวว่า (วช.) ภายใต้กระทรวง (อว.) มีนโยบายที่มุ่งส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษา การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกิดการสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับโดรน เพื่อการใช้ประโยชน์ ได้ประสบผลสำเร็จ ในการพัฒนาคิดค้นซอฟต์แวร์ดังกล่าว และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในระดับนานาชาติ อีกด้วย
นายทนงชัย เจริญรัตน์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1 นครพนม กล่าวว่า จังหวัดนครพนมมีเป้าหมายพัฒนาจังหวัดให้เป็นเมืองน่าอยู่ ประตูเศรษฐกิจสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีประเด็นการพัฒนาคุณภาพทางการท่องเที่ยวและการบริการให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวสามที่สุดในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อาทิ ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด “พระธาตุพนม” สวยที่สุด “สะพานมิตรภาพ 3” และ งามที่สุด “ทิวทัศน์ริมฝั่งโขง” ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของจังหวัดนครพนมที่มีลักษณะเป็นเมืองชายแดนติดริมฝั่งโขง สามารถมองเห็นแนวทิวเขาเหมาะกับการท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนหย่อนใจ รวมไปถึงการประกอบธุรกิจและการบริการในพื้นที่ ดังนั้นการอบรมในครั้งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษา ประชาชนและบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดนครพนมเป็นอย่างมาก
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับการสนับสนุนจาก (วช.) จัดโครงการ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดรนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ “โดรน” (Drone) ให้บุคลากรด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ ตลอดทั้งเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจ เพื่อนำความรู้ที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดประยุกต์ใช้กับการทำงานในสาขาภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ในจังหวัดต้นแบบ 4 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการจัดอบรมในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ หอประชุมวิทยาลัยเทคนิคนครพนม-วิทยาลัยสารพัดช่างนครพนมเดิม จังหวัดนครพนม ระหว่างวันที่ 20–22 ตุลาคม 2566 โดยผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้แนวทางการนำโดรนไปใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการท่องเที่ยว และการนำโดรนไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม โครงการ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดรนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว” มีกำหนดจัดขึ้นใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม จังหวัดหนองคาย จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมประเพณีที่น่าตื่นตาตื่นใจ โดยนักเรียน นักศึกษา ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารการอบรมได้ที่ Facebook Fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ