เสียงครวญร้อยเวร
วิธีการรับแจ้งความออนไลน์ ที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่งจะเปิดให้ประชาชนแจ้งความไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2565 นี้ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกจุดอย่างยิ่ง
การที่ บช.สอท. หรือหน่วยงานที่เรียกตนเองว่าตำรวจไซเบอร์ เปิดรับช่องทางการแจ้งความออนไลน์จากประชาชน และเมื่อรับคำร้องทุกข์มาแล้ว กลับส่งเพียงแค่ข้อมูลที่เป็นตัวอักษรไปยังสถานีตำรวจในที่เกิดเหตุ เพื่อให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ทำต่อนั้น
เป็นการเพิ่มภาระงานให้กับพนักงานสอบสวนหรือร้อยเวร ในท้องที่เป็นอย่างมาก ซึ่งหน้างานที่ร้อยเวรพบเจอในแต่ละวันที่เข้าเวรนั้น ก็มีมากพออยู่แล้ว
1.แอดมินประจำ สภ.หรือ สน.ต้องเปิดดูระบบเป็นประจำ ว่ามีข้อมูลคดีส่งมาจาก ศปอส.ตร.หรือไม่
– ศปอส.ตร. ย่อมาจาก ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งชื่อก็บ่งบอกโดยตรงอยู่แล้วว่า เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
แต่ ศปอส.ตร.กลับส่งเรื่องมาให้ที่โรงพักท้องที่ทำต่อ ทั้ง ๆ ที่โรงพักท้องที่ ไม่มีอุปกรณ์ในการสืบสวนทางเทคโนโลยีใด ๆ เลย แม้กระทั่งหมึกเครื่องปริ้นส์ ยังต้องออกเงินซื้อกันเอง ซึ่งมันดูไม่ make sense เป็นอย่างยิ่ง
2.เมื่อพบว่ามีข้อมูลคดี ให้แอดมินนำข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อพนักงานสอบสวน และหัวหน้า สภ.หรือสน.นั้น ๆ เท่ากับว่า เมื่อแอดมินรับข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลออนไลน์มาแล้ว ยังต้องปริ้นส์ข้อมูลดังกล่าว ลงในกระดาษ แล้วใส่แฟ้มเสนอให้กับหัวหน้าโรงพักตามขั้นตอนอีก เหมือนกับจะดีแล้วว่า การดำเนินการเป็นธุรการออนไลน์ แต่สุดท้ายก็เอามาลงกระดาษเหมือนเดิม
ส่วนร้อยเวรที่เข้าเวรในวันนั้น ยังต้องนั่งลุ้นกันอีกว่า จะมีใคร ?? ส่งเรื่องฉ้อโกงออนไลน์มาอีก บางทีกลับมาจากเหตุลักทรัพย์ เหตุรถชน มาเจอกับผู้เสียหายคนอื่นที่นั่งรอแจ้งความอยู่ กลายเป็นว่ามีแฟ้มมาวางบนโต๊ะ เพิ่มงานฉ้อโกงออนไลน์เข้าไปอีก ซึ่งผู้เสียหายคนอื่นเค้ามานั่งเสียเวลารอทั้งวัน ดูไม่เท่าเทียมกันเลย
3.เมื่อร้อยเวรรับเรื่องแล้ว ให้รีบติดต่อกับผู้เสียหายเพื่อนัดมาสอบสวนปากคำ ในข้อนี้ดูย้อนแย้งกันมาก ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์กับ web site ที่ บช.สอท.เปิดให้แล้ว แต่กลับต้องเดินทางไปที่โรงพักที่เกิดเหตุ เพื่อให้ปากคำอีก ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว แนะนำให้ผู้เสียหายเดินทางไปที่โรงพักด้วยตัวเองเลยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีการแจ้งความออนไลน์ มิฉะนั้นแล้ว มันจะเป็นการทำอะไรที่ซ้ำซ้อนเอามาก
4. เมื่อได้สอบสวนปากคำผู้เสียหาย หัวหน้า สภ.หรือ สน.จะต้องพิจารณาว่าคดีนี้ เหตุเกิดท้องที่ใด หากเกิดในท้องที่ของตน ให้รับคดี แต่หากเกิดในท้องที่อื่น ให้ส่งคำร้องทุกข์ดังกล่าวไปยังท้องที่เกิดเหตุต่อไป ข้อนี้ หนักกว่าข้อที่ 3 อีก แสดงให้เห็นได้ว่า บช.สอท.ที่รับเรื่องแจ้งความออนไลน์มานั้นไม่ได้มีข้อมูล โรงพักในท้องที่ที่เกิดเหตุเลย หากใน 1 อำเภอ มีโรงพักมากกว่า 1 โรงพัก ทาง บช.สอท.จะต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่า ตำบลนี้ เป็นท้องที่ของโรงพักใด ??
มิฉะนั้น ถ้าส่งมาผิดโรงพักแล้ว โรงพักที่ได้รับข้อมูลก็ต้องส่งต่อไปอีกโรงพักในท้องที่ เท่ากับว่าเสียเวลาไปด้วย และเป็นการโยนงานให้กับโรงพักที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย
ต่อมาเมื่อสอบสวนปากคำผู้เสียหาย ( ที่ต้องเสียเวลาเดินทางมา สภ.ที่เกิดเหตุ ) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ร้อยเวรดำเนินการต่อ และหากถามว่าให้รับเป็นเลขคดีเลยหรือไม่ ตอบว่ายังไม่ต้อง แต่ให้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานก่อน เมื่อเพียงพอจะออกหมายจับแล้ว ให้รับเป็นเลขคดี และไปออกหมายจับ
ถ้าให้ขยายความก็คือ สาเหตุที่ยังไม่อยากให้รับเป็นเลขคดี หรือที่ภาษาร้อยเวรเรียกว่า “ตัดเลข” นั้น เนื่องมาจากหัวหน้าโรงพัก และนาย ๆ ทั้งหลาย กลัวว่าเลขคดีกลุ่ม 2 ของโรงพักตนจะค้าง ส่วนตัวผู้ต้องหาก็ยังจับไม่ได้ เมื่อค้างแล้ว อันดับโรงพักของตนก็จะร่วง พอร่วงแล้วก็จะซวย จึงมีนโยบายไม่ให้ร้อยเวรตัดเลขก่อนที่พยานหลักฐานจะเรียบร้อย
ถามว่าจริง ๆ เลขคดีทั้ง 4 กลุ่ม ที่หัวหน้าโรงพักเป็นห่วงกันนักหนานั้น ช่วยทำให้อาชญากรลดลงได้หรือไม่ ตอบได้เลยว่า ลดลงได้เพียงแค่ตัวเลขในกระดาษ
แต่ในความเป็นจริงนั้น อาชญากรรมเกิดขึ้นทุกวัน ทุกเวลา จึงน่าเป็นห่วงประชาชนที่ต้องมารับผลกรรมจากผลชี้วัดที่เป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น
แต่เพื่อป้องกันการขาดอายุความ หรือถูกผู้เสียหายร้องเรียนนั้น แนะนำดังนี้
1.ร้อยเวรต้องลงประจำวันว่าได้รับคำร้องทุกข์ไว้แล้ว เมื่อจะรับเลขคดี ให้อ้างประจำวันข้อเดิม เพื่อรับเป็นเลขคดี
2.ในระหว่างที่ร้อยเวรยังไม่รับเลขคดี ให้หมั่นโทรศัพท์หาผู้เสียหาย ให้เกิดความสบายใจ ในข้อนี้ ถามจริง ๆ เลย ว่านี่คือ วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องแล้วหรือ ??
ผู้เสียหายไม่ได้สนใจว่าจะโทรศัพท์มารายงานกี่ครั้ง ผู้เสียหายสนใจแค่ว่า เขาจะได้เงินคืนหรือไม่ หรือหากไม่ได้เงินคืน ผู้ต้องหาหรือเจ้าของบัญชีถูกออกหมายจับแล้วหรือยัง ต่อให้ร้อยเวรโทรไปเป็นร้อยสาย แต่หมายจับยังไม่มี ก็บอกเลยว่าไม่มีประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น
จึงใคร่ขอเสนอวิธีแก้ไขปัญหา ที่ดูน่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนที่สุด
1.บช.สอท. มีพนักงานสอบสวนเป็นของตนเอง เมื่อรับเรื่องแล้ว นัดสอบปากคำผู้เสียหายก่อนเลย หากผู้เสียหายไม่สะดวกที่จะมาที่ บช.สอท. ก็วิดีโอคอลได้ เพราะถ้ารับแจ้งความออนไลน์ได้ ทำไมจะสอบปากคำออนไลน์ไม่ได้
เสร็จแล้วปริ้นส์ออกมาแล้ว ค่อยนัดวันที่ผู้เสียหายสะดวกให้มาลงชื่อ หรือจะส่งไฟล์ให้ผู้เสียหายปริ้นส์ให้ แล้วลงชื่อ แล้วลง ปณ.กลับมาที่พนักงานสอบสวน หรือพนักงานสอบสวนจะปริ้นส์ออกมาแล้วส่งไปที่ผู้เสียหายให้ลงชื่อ แล้วส่งกลับมาก็ยังได้ มีหลายวิธีมาก
2.พยานหลักฐาน บทคุยแชทสนทนา สลิปการโอนเงิน หรือหลักฐานอื่น ๆ ผู้เสียหายสามารถส่งให้พนักงานสอบสวนปริ้นออกมาได้ เชื่อว่า บช.สอท. คงจะมีเครื่องปริ้นเตอร์และน้ำหมึก งบหลวงให้ หรือจะบอกว่า บช.สอท. ให้พนักงานสอบสวนซื้อน้ำหมึกกันเอง ก็ไม่น่าจะได้
3.ขั้นตอน ต่อมา พนักงานสอบสวน บช.สอท. ติดต่อธนาคารเพื่ออายัดบัญชี ขอเอกสารการเดินบัญชี เอกสารการเปิดบัญชี หรือภาพจากกล้องหน้าตู้เอทีเอ็ม เนื่องจาก บช.สอท. เป็นหน่วยงานใหญ่ มีความสามารถในการขอข้อมูลจากสถาบันทางการเงิน และรวดเร็วกว่า ดังนั้น ในเรื่องการขอเอกสาร บช.สอท. สมควรอย่างยิ่งในการเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้
4.เมื่อเอกสารครบแล้ว หากจะส่งมาให้โรงพักท้องที่ทำต่อ เชื่อว่าร้อยเวรหลายคนสามารถทำต่อได้ เนื่องจากเอกสารต่าง ๆ ที่เป็นพยานหลักฐานมีครบแล้ว เหลือเพียงแค่ออกหมายเรียกผู้ต้องหา 2 ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องของโรงพักท้องที่ เมื่อผู้ต้องหาไม่มาก็ออกหมายจับได้ ดังนี้แล้ว คนที่ได้รับประโยชน์จริง ๆ คือประชาชนผู้เสียหาย
แต่หากจะบอกว่า 4 ข้อที่กล่าวมา พนักงานสอบสวนไม่ได้มีหน้าที่ตรงนั้น ก็ขอให้ยุบหน่วยงานที่จงใจปัดสวะทิ้งไปเสีย เนื่องจากเป็นหน้างานโดยตรง
อีกประการหนึ่ง พนักงานสอบสวน บช.สอท.ไม่ได้มานั่งรับแจ้งความ 24 ชม. เหตุรถชน คนบ้า หมากัด เรื่องราวตีหัวหมาด่าแม่เจ๊ก และอีกสาระพัดอย่างแบบที่ร้อยเวรโรงพักทำกัน แต่กลับได้รับเงินประจำตำแหน่งเท่ากัน
การที่ บช.สอท.หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกตัวมาแรงว่าสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่เป็นเรื่องที่ดีและสมควรทำเป็นอย่างยิ่ง แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่เคยสนใจ ไม่เคยดูแล ไม่เคยสอบถามผู้ปฏิบัติงานจริง ๆ เลยว่า กำลังพลมีเพียงพอหรือไม่ ทรัพยากรเพียงพอในการทำงานหรือไม่ แต่กลับไปนำเสนอผลงานชิ้นใหม่ โฆษณาให้ประชาชนเอาความเชื่อถือ เท่ากับเป็นการเอาความดีเข้าตัวอย่างเดียว สุดท้ายแล้วผู้ที่เสียหายก็คือประชาชนที่ต้องรับกรรม เพราะคดีไม่คืบหน้า
อย่าลืมว่าตำรวจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชั้นประทวน สัญญาบัตร เป็นสายตรวจตำบล หรือเป็น ผบ.ตร. ทุกคนล้วนรับภาษีเงินเดือนจากประชาชนทั้งหมด ประชาชนไม่ได้สนใจว่าภายในองค์กรตำรวจจะทำงานกันอย่างไร ?? ประชาชนสนใจเพียง ว่า เค้าจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ !! ประชาชนหวังว่าเค้าจะได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงขอฝากเป็นไปยังผู้ที่มีอำนาจในการสั่งการทั้งหลาย ลงมาดูแลผู้ที่ปฏิบัติงานเพื่อความถูกต้องด้วย !!!!
เสียงจากร้อยเวร.