เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ เข้าพบ รมว.วัฒนธรรม เสนอนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน
วันที่ 6 ต.ค.2566 ที่กระทรวงวัฒนธรรม เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ : นายประศม สุขแสวง ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับพร้อมด้วยสมาชิกที่เป็นเหยื่อจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจำนวน 10 คนได้เดินทางเข้าพบนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อยื่นข้อเสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมได้พิจารณานโยบายการขับเคลื่อนวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนโดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยง 2 พฤติกรรมที่เป็นปัญหาจนกลายเป็นวัฒนธรรมความไม่ปลอดภัยในประทศไทยและถูกต่างชาตินำไปเป็นประเด็นสื่อสารจนก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดี
คือการไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ตรงกันข้ามคนที่มีน้ำใจหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายกับถูกบีบแตรไล่หรือถูกชนท้าย และการไม่จัดหาหมวกกันน็อกสวมใส่ให้บุตรหลานเมื่อนำบุตรหลานนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ถือเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมอันตรายให้กับอนาคตของชาติ
ดังนั้นทางเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับจึงเดินทางมายื่นข้อเสนอนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้กับนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้พิจารณา
นายประศม สุขแสวง ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ เปิดเผยว่า พวกตนเป็นเหยื่อของความไม่มีวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนนไม่ใช่เพราะพวกตนมีเวรมีกรรมสมาชิกของเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับหลายคนไม่ได้กระทำผิดกฎจราจรเลย จอดรถติดไฟแดงอยู่ดีๆถูกคนเมาแล้วขับชนจนพิการ หลายคนถูกชนพิการขณะข้ามทางม้าลายนโยบายอื่นๆรัฐบาลยังให้ความสำคัญแต่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนเป็นการสร้างพื้นฐานของชาติที่เข้มแข็ง สามารถจะลดการเสียชีวิต การบาดเจ็บ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งความปลอดภัยมีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามและมีวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยไม่ใช่เป็นประเทศที่อันตรายจนสถานทูตหลายประเทศต้องออกคำเตือนว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีถนนอันตรายที่สุดของโลก ให้ระมัดระวังเมื่อเดินทางมา
ทั้งนี้ทางพวกเราหวังว่าจะเห็นกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกระทรวงยุคใหม่ไม่ได้เน้นเรื่องวัฒนธรรมความสวยงามเพียงอย่างเดียวแต่ต้องเน้นสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในสังคมด้วย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กล่าว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน