คอลัมนิสต์

ให้โดยเสน่หา อามิสสินจ้าง รางวัล


20 กันยายน 2023, 8:01 น.

 

<ให้โดยเสน่หา> <อามิสสินจ้าง> <รางวัล>

 

<ราชการ>
คืองานของรัฐ หรืองานของพระเจ้าแผ่นดิน
:วิกิพีเดีย

 

<ข้าราชการ>
คือผู้ที่สนองงานของแผ่นดินที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
:สง.กฤษฎีกา

 

<ข้าราชการไทย>
เป็นบุคลากรในระบบราชการของประเทศไทย ประกอบด้วยข้าราชการหลายประเภท ตามที่มาและบทบัญญัติของกฎหมาย
:วิกิพีเดีย

 

บุคคลผู้ประกอบอาชีพรับราชการ จักต้องกอปรด้วยความรู้ความสามารถในทางราชการนั้น ๆ ต้องทำงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ
จักต้องประพฤติปฏิบัติตน อยู่ในระเบียบแบบแผนของทางราชการ ที่สำคัญ จักต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่สนับสนุนหรือกระทำการทุจริตคิดมิชอบใด ๆ เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น

 

มีคำกล่าวที่เกี่ยวกับเรื่องของผลประโยชน์บางคำ คือ

 

<ให้โดยเสน่หา>
คือการโอนทรัพย์สินให้แก่อีกบุคคลหนึ่งโดยไม่มีค่าตอบแทน
:พจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

 

<อามิส>
คือสิ่งของ วัตถุ หรือเครื่องล่อใจ เช่นอย่าเห็นแก่อามิสสินจ้าง
:พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

 

<รางวัล>
คือเงินหรือสิ่งของที่ได้มาเพราะความดีความชอบหรือความสามารถ
:พจนานุกรมแปลไทย

 

ข้าราชการ นอกจากจะมีเงินเดือน ค่าตอบแทน เบี้ยเลี้ยง และสวัสดิการอื่น ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียนบุตร ฯ
ก็ยังมีรายได้เป็นเงินหรือสิ่งของตามกฎหมาย หรือตามประเพณีนิยมอีก เช่น บุคคลอื่นให้เพราะเสน่หาหรือได้รับรางวัล เป็นต้น

 

ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ที่มองเห็นโลกทัศน์ของระบบราชการอย่างชัดเจน พูดว่า

 

<จงจำไว้ว่า หลักการปฏิบัติต่อคู่กรณีนั้นคือ<ความถูกต้อง> ถ้าถูกต้องไม่ได้ ก็ขอให้มี <ความยุติธรรม> นั่นคือ<ความพอใจ>ของทุกฝ่าย>

 

ผมมานั่งทบทวนคำพูดของท่านหลายรอบจนตกผลึกเป็นแบบฉบับของผมเองว่า <อาชีพรับราชการ>นั้น โดยหลักการแล้ว เป็นอาชีพที่ให้บริการแก่ประชาชน ตามแนวทางของระเบียบแบบแผนและกฎหมาย ที่ให้อำนาจหน้าที่ไว้

 

<ความถูกต้อง> เป็นข้อเท็จจริงที่สามารถอธิบาย ทำให้คู่กรณี ยอมรับ

 

<ความยุติธรรม> เป็นการดำเนินการตามหลักกฎหมาย ถ้าคู่กรณีไม่ยอมรับในข้อเท็จจริงข้างต้น

 

<ความพอใจ> คู่กรณีที่ได้รับคำแนะนำและการปฏิบัติตามขั้นตอน ของความถูกต้อง และความยุติธรรมแล้ว ความพึงพอใจก็จะตามมา เว้นแต่คนไร้เหตุผล

 

มันเป็นหลักการของการ <ไกล่เกลี่ประนีประนอม> ตามลำดับชั้น ถ้าทำได้อย่างนี้ ประชาชนหมดทุกข์ แบกความสุขกลับบ้านกันทุกคน งานราชการ ก็จบสิ้นตามนโยบาย

 

ผมอาจจะคิดไม่เหมือนคนอื่น ๆ คนอื่น ๆ ก็อาจจะคิดไม่เหมือนผม ไม่ใช่ปัญหา เพราะเรามีเจตนารมณ์เดียวกัน คือ บริการประชาชน
บำบัดทุกข์ บำรุงสุข พิทักษ์สันติราษฎร์

 

 

ผมรับราชการเป็นตำรวจ อยู่ใน บช.น. 5 สน. คือ สน.ยานนาวา บางนา ดุสิต ดินแดง พญาไท อยู่ ภ.3 หลายจังหวัด เช่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ชัยภูมิ รวมทั้ง ต.ม. บช.ศ. ลงเอยที่ ตชด.

 

ช่วงผมอยู่ สน.บางนา โรงพักก่อด้วยอิฐบล็อค ตั้งอยู่บนทางเท้า ด้านหน้าโรงไม้ ใกล้สี่แยกบางนา ผมมียศ ร.ต.ท. ตำแหน่ง รองสวส. วันหนึ่ง เมื่อผมมาเข้าเวรสอบสวน สิบตำรวจเวรมาบอกว่า

 

<หมวดครับ มีผู้หญิงมารอพบครับ>

 

ผมฉงนใจนิดหน่อย พยักหน้าเป็นเชิงอนุญาต หญิงวัยกลางคน นุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อแบบชาวบ้าน มือถือถุงกระดาษ เดินเข้ามาในห้อง ผมทักไปว่า

 

<ป้ามีธุระอะไรหรือครับ ? เห็นตำรวจบอกว่ามารอพบผม>

 

หญิงวัยกลางคน นั่งบนเก้าอี้หน้าโต๊ะทำงานผม ยกมือไหว้ทักทายกับผม และพูดว่า

 

<ฉันจะมาขอบคุณผู้หมวดที่เคยช่วยเหลือจ้ะ>

 

ผมขมวดคิ้ว เพราะจำไม่ได้ ถามไปว่า

 

<เรื่องอะไรครับป้า ผมจำไม่ได้>

 

หญิงวัยกลางคนบอกว่า

 

<ฉันเคยถูกเพื่อนบ้านแจ้งความเรื่องบุกรุกที่ดินทำกิน ฉันรับจ้างเขาทำนาทำสวน ฉันไม่รู้เลยล้ำที่คนอื่น ผู้หมวดช่วยไกล่เกลี่ยให้
ทำให้ฉันไม่ติดคุก จึงอยากมาขอบคุณผู้หมวดจ้ะ>

 

ผมนึกทบทวนเรื่องราว พอจำเรื่องได้ จึงพูดว่า

 

<ขอบคุณครับป้า มันเป็นหน้าที่ที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคนครับ ป้าเข้าไปทำในที่ของคนอื่น เพราะไม่มีแนวกั้น ก็เลยไม่รู้>

 

หญิงวัยกลางคนยื่นถุงกระดาษให้ผม ผมคิดว่าเป็นขนมแต่ผิดคาดมีเงินสดอยู่สองปึกในถุงกระดาษนั้น ผมถามหญิงวัยกลางคนทันที

 

<ป้าเอาเงินมาจากไหน เยอะแยะขนาดนี้ ผมไปดูที่เกิดเหตุ เห็นบ้านป้าก็เก่า ๆ โทรม ๆ ห้ามโกหกนะ>

 

หญิงวัยกลางคน ทำท่าทีอึกอัก ไม่สบายใจ แต่ปากก็พูดว่า

 

<ผู้หมวดรับไปเถอะจ้ะ ฉันอยากตอบแทนจริง ๆ ผู้หมวดช่วยฉัน ไม่เคยเรียกร้องอะไรจากฉันเลย>

 

ผมยกมือไหว้หญิงคนนั้น และพูดว่า

 

<ขอรับไว้ด้วยใจนะครับ เอ้า ! ทีนี้บอกมาเอาเงินนั้นมาจากไหน ?>

 

คำตอบของหญิงคนนั้น

 

<ฉันจำนำกำไลข้อมือทองคำ ไป 1 เส้น ได้มา 10,000 บาท ยืมดอกเบี้ยร้อยละ 10 อีก 10,000 บาท ฉันอยากให้ผู้หมวดจริง ๆ
รับไว้เถอะนะจ๊ะ>

 

ผมรับไว้ครับ แต่ที่รับไว้คือตั๋วจำนำตรวจดูเห็นว่าเพิ่งไปจำนำมานี่เองผมคิดอัตราดอกเบี้ยจำนำ 2,000 บาทแรก ดอกเบี้ย ร้อยละ 1.25 บาท เกินสองพันบาทขึ้นไป ดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาท

 

ผมเอาตั๋วจำนำ พร้อมเงินสด 10,000 บาท จากหญิงวัยกลางคน ส่วนที่เป็นดอกเบี้ย ผมควักกระเป๋าเอง ให้ตำรวจชุดสืบสวน น่าจะเป็น ด.ต.เฉลียว ไม่งั้นก็เป็น ด.ต.มนัส คนใดคนหนึ่ง เอาบัตรประจำตัวประชาชนหญิงวัยกลางคน ไปโรงรับจำนำ ไถ่ถอนกำไลข้อมือทองคำออกมา

 

ระหว่างนั้น ผมก็พูดคุย ได้ความว่า กำไลข้อมือทองคำนั้น คือของหมั้นของแต่งงานของหญิงวัยกลางคนเองแต่ชีวิตมันผกผัน ไม่ราบรื่น จึงออกรับจ้างทำงาน

 

เมื่อชุดสืบสวนกลับมาจากไถ่ถอนกำไลข้อมือทองคำ ผมก็มอบกำไลข้อมือทองคำให้หญิงวัยกลางคนไปเธอกำไว้แน่น น้ำตาไหลเป็นทาง

 

ผมให้ชุดสืบสวน พาหญิงวัยกลางคน เอาเงินต้นไปคืนนายทุนเงินกู้ โดยคืนเท่าที่รับมา ขอให้ไม่คิดดอกเบี้ย ก่อนออกไป หญิงวัยกลางคนคนนั้น ไหว้ผมแล้วไหว้ผมอีก น้ำตาไหลพราก พูดว่า

 

<ฉันจะไม่ลืมบุญคุณผู้หมวดเลย>

 

ตำรวจ สน.บางนา ที่ได้ยินได้ฟังเรื่องนี้มีมากมายหลายนาย ด.ต.สมบัติ ด.ต.รังสรรค์ เสมียน ปจว.สน.บางนา จำเรื่องนี้ได้ไหมครับ ?

 

<กรณีนี้ เป็นการให้โดยเสน่หาหรือรางวัล ไม่ใช่อามิสสินจ้างอย่างแน่นอน>

 

ต่อมา ผมเป็น ร.ต.อ. รอง สวส.สน.พญาไท วันหนึ่ง หญิงชาวไทย พาสามีเป็นฝรั่ง ลักษณะแต่งตัวตัวดี ท่าทางดี มาแจ้งความ ผมสอบถามเรื่องราว รับแจ้งและดำเนินการให้ตามอำนาจหน้าที่ โดยไม่ต้องใช้ล่ามแปล ไม่ใช่ว่าผมจะเก่งกาจ พูดภาษาอังกฤษได้หรอกครับ ฝรั่งพูดไทยได้พอสมควรครับ เลยสื่อกันเข้าใจ

 

ตอนที่จะให้ฝรั่งผู้แจ้ง ลงลายมือชื่อในเอกสาร ผมเอาปากกาด้ามละไม่กี่ร้อยบาท ที่เหน็บกระเป๋าเสื้อเครื่องแบบ ส่งให้ไปพร้อมเอกสาร ฝรั่งผู้แจ้ง หยิบปากกาผมขึ้นไปดู ทำหน้ายิ้ม ๆ แล้วใช้ปากกาผมลงลายมือชื่อ ส่งปากกาคืนให้ผมแล้วส่งภาษาอังกฤษคุยกับภรรยาคนไทยเสียงเบา ๆ ภรรยายิ้มและพยักหน้า

 

ฝรั่งคนนั้น เปิดกระเป๋าถือใบเล็ก ยี่ห้อดังของฝรั่งเศส แล้วหยิบเอาของออกมาสองอย่างคือ ปากกาลูกลื่น ยี่ห้อ ดูปอง รุ่น สตาร์วอร์ส กับไฟแช็คยี่ห้อเดียวกัน ฝรั่งยื่นให้ผม โดยบอกว่า

 

<ขอบคุณที่ช่วยเหลือ อยากให้ใช้ของดี ๆ>

 

ภรรยาฝรั่งก็พูดว่า

 

<เขาประทับใจในการบริการ และการให้เกียรติ ของท่านมาก เขาต้องการตอบแทนตามธรรมเนียมของเขารับไว้นะคะ>

 

ผมบอกว่าเป็นหน้าที่ แต่ฝรั่งยืนกรานขอร้องให้รับไว้ ผมขอรับปากกาเพียงด้ามเดียว โดยบอกฝรั่งไปว่า

 

<ปากกาผมเอาไปใช้งานได้ แต่ไฟแช็ค ผมขอไม่รับนะครับ เพราะผมไม่สูบบุหรี่>

 

ฝรั่งกับภรรยาชาวไทย ออกจาก สน:พญาไท ไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข ส่วนผม ถูกเฮียอี๊ด นายตำรวจรุ่นพี่ ที่เข้าเวรสอบสวนคดีอาญาอยู่คู่กัน และรู้เห็นเรื่องราวโดยตลอด มองหน้าพูดกับผม ว่า

 

<ไฟแช็ค มึงไม่เอา มึงให้กูก็ได้ มึงมันโง่ ไฟแช็คแพงกว่าปากกาอีก>

 

พูดแล้ว เฮียอี๊ดก็หัวเราะ ผมก็หัวเราะ เพราะรู้ว่าพี่เขาพูดแหย่เล่น เฮียอี๊ดพูดเสียงดังตามสไตล์ต่อไปว่า

 

<มึงเป็นคนอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร กูรู้ มึงเป็นคนดีใช้ได้นะ>

 

ดีไม่ดี ผมไม่รู้ตัวเองหรอกผมคิดว่าอะไรควร ก็ทำ อะไรไม่ควร ก็ไม่ทำ ตามประสาของผม กรณีปากกานี้ ก็น่าจะเป็น การให้โดยเสน่หาหรือให้รางวัลเช่นเดียวกัน

 

<ข้าราชการ> ที่ทำงานตามหน้าที่ทำในสิ่งที่คิดว่าดีถึงแม้จะไม่มีวันร่ำรวยเพราะไม่คบหาผู้มีอิทธิพลแต่รับรองได้เลยว่าหลวงเลี้ยงตลอดชีวิต

 

กินก็อิ่ม นอนก็อุ่น พูดก็ได้ ไอก็ดัง ไม่พะวงพะวัง ว่าจะมีอะไรตามหลังมาให้พะวักพะวน ยังมีคนคบหา ยังมีลูกน้องมาทักทาย แล้วยังจะเอาอะไรอีก ?

 

พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท

 

ภาพประกอบเสริม

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดคอลัมนิสต์

เรื่องล่าสุด