ข่าวประชาสัมพันธ์

AI จุดเปลี่ยนหรือจุดจบของมนุษยชาติ


27 สิงหาคม 2023, 14:16 น.

 

AI จุดเปลี่ยนหรือจุดจบของมนุษยชาติ

 

สกสว.จัดเวทีถก ‘ปัญญาประดิษฐ์’ จุดเปลี่ยนหรือจุดจบของมนุษยชาติ

 

 

สกสว. เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนมุมมองด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในหลากหลายมิติ ชี้ไทยมีแนวโน้มการเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและพร้อมที่จะพัฒนา แต่ต้องเรียนรู้ให้ไวและไม่หยุดเรียนรู้ หยิบฉวยเทคโนโลยีมาใช้หรือสร้างโมเดลเฉพาะกิจของไทยเอง ตอบโจทย์แต่ละด้านอย่างเหมาะสม

 

รศ. ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ “AI จุดเปลี่ยน หรือจุดจบของมนุษยชาติ” ณ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ เพื่อค้นหาคำตอบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมิติที่หลากหลาย เพื่อเตรียมพร้อมรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จาก AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์บทบาทของกองทุน ววน. ในการพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้าน AI ของประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จากข้อกังวลว่าในอนาคตมนุษย์จะถูกแทนที่ด้วย AI หรือไม่ ประเทศไทยจะปรับตัวและเตรียมความพร้อมของกำลังคนและความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีของตนเองได้อย่างไร

 

ภาพจาก : แนวหน้า

 

ผลการดำเนินงานในปี 2563-2565 มีการใช้งบประมาณพัฒนากำลังคนกว่า 400 ล้านบาท/ปี คิดเป็นร้อยละ 3.5 ของกองทุน ววน. โดย AI ไทยได้สร้างกระแสความสนใจ ความรู้และความเข้าใจเบื้องต้นแก่คนทั่วไป มี AI@Shool ที่พัฒนาเครื่องมือสอน AI พัฒนานวัตกรรม วิศวกร นักวิจัย วิสาหกิจเริ่มต้นด้าน AI ป้อนสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และหุ่นยนต์ที่ช่วยเหลือแพทย์ตรวจจับความผิดปกติบนภาพถ่ายรังสีทรวงอกให้ทุกคนเข้าถึงบริการแม้ในพื้นที่ห่างไกล “สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีความพร้อมในการปรับตัวและใช้งานดิจิทัลเทคโนโลยี คือ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้สูงถึง 1 ล้านล้านบาท ในปี 2654 เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน มีการเติบโตของธุรกิจค้าขายออนไลน์ ส่งอาหารและการท่องเที่ยวออนไลน์ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นในกลุ่มเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมถึงอัตราการใช้จ่ายออนไลน์สูงถึงร้อยละ 92 ความท้าทายคือ แพลตฟอร์มสัญชาติไทยด้านสุขภาพการแพทย์และบริการทางการเงินมีโอกาสจะเข้ามามีบทบาทและได้ส่วนแบ่งตลาด เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญต่อความเข้มแข็งของเทคโนโลยีดิจิทัลสัญชาติไทยก่อนที่จะขยับออกไปในตลาดนอกประเทศ” รศ. ดร.คมกฤต ระบุ

 

ภาพจาก : สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย

 

ด้าน ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านของ AI ทำให้หลายงานเสี่ยงกับการถูกระบบอัตโนมัติทดแทน แต่อีกนานนับร้อย ๆ ปีกว่าที่ AI จะทำได้ดีกว่ามนุษย์ ทั้งนี้มีความต้องการกำลังคนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจฐาน AI เพิ่มมากขึ้น ในปี 2563-2567 มีความต้องการถึงกว่า 4.7 หมื่นคน จาก 23 สาขาอาชีพ ซึ่งในปีที่ผ่านมาไทยมีมูลค่าการลงทุนด้าน AI 639 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าร้อยละ 50 โดยมนุษย์มีบทบาทเป็นผู้สร้างและผู้ใช้ทั้งในฐานะเป็นเครื่องมือ เพื่อนร่วมงาน และสมาชิกในครอบครัว

 

ขณะที่วงเสวนา “ความพร้อมของประเทศและการพัฒนากำลังคนทักษะสูงด้าน AI” ดร.เทพชัย ระบุว่า สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงคือ จริยธรรมในการใช้ AI ปัจจุบันไทยมีความพร้อมค่อนข้างมาก เห็นได้จากจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ Super AI Engineer ที่ผ่านมาทั้ง 3 รุ่น มีผู้สมัครรวมกว่า 1.5 หมื่นคน มีความหลากหลายทั้งอายุ เพศ การศึกษา และอาชีพ ภาพอนาคตจะมีข้อมูลที่หลากหลายและใช้ AI มากขึ้น

 

ภาพจาก : Arincare Blog

 

ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า DEPA ส่งเสริม AI ในภาคอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น แต่ปัญหาคือการผลิตกำลังคนยังไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงภาคธุรกิจและเหมาะกับแอปพลิเคชันประเภทใด รวมถึงต้องส่งเสริมการยกระดับทักษะกำลังคนเฉพาะสาขา เตรียมพื้นฐานด้านข้อมูล โดยหน่วยงานภาครัฐได้แยกตัวออกมาเป็นองค์การมหาชนทั้งด้านสุขภาพและการท่องเที่ยวร่วมกับภาคเอกชน และการทำธุรกิจออนไลน์

 

ส่วนมุมมองจากภาคเอกชน คุณโอม ศิวะดิตถ์ จากบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า เทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนามากขึ้นจะพลิกโฉมจากที่ต้องมีนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรข้อมูล เป็นคนมีความสามารถรอบด้านมากขึ้น เข้าถึงและสื่อสารให้ AI ทำงานได้โดยใช้โมเดลภาษา จึงเป็นโอกาสของคนที่มีทักษะภาษาและ AI สามารถแข่งกับโปรแกรมเมอร์ได้ ลูกจ้างต้องมีทักษะ AI วิเคราะห์ตัดสินใจและชั่งน้ำหนักว่าสิ่งที่ AI ทำนั้นถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ คนจะอยู่ร่วมกับ AI ได้อย่างชาญฉลาดได้อย่างไร ใครพร้อมจะเรียนรู้ของใหม่ได้เร็วกว่า เราจึงหยุดเรียนรู้ไม่ได้

 

ทั้งนี้ การพัฒนาแผน ววน. ด้าน AI นั้น ผู้ร่วมเสวนาเห็นว่าต้องรู้จักหยิบฉวยเทคโนโลยีมาใช้ในประเทศไทย สร้างโมเดลเฉพาะกิจของไทยหรือระบบปฏิบัติการ Open Source ส่งเสริมการพัฒนาหรือสร้างทักษะของกำลังคนในหลายมิติ สามารถใช้ AI แก้ปัญหาและตอบโจทย์ในแต่ละด้านอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีราคาถูก เข้าถึงคนได้กว้างขวาง

 

ชมคลิปได้ที่ : https://youtube.com/shorts/IlbwhBiXce8?si=PncjZsxvHlgjC4pw

 

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดข่าวประชาสัมพันธ์

เรื่องล่าสุด