ดีเอสไอ ขยายความร่วมมือ สวทช. ด้านการวิจัยพัฒนานวัตกรรม ยกระดับงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ
วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ณ กรมสอบสวนคดีพิเศษ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี โดยมี ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมลงนาม และดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (สวทช.) พร้อมด้วยนายพิพัฒน์ เพ็ญภาค ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมเป็นพยาน โดยความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสำหรับเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษและงานความมั่นคง ตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุนทรัพยากรร่วมกันให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า (สวทช.) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มุ่งเน้นในการสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ของประเทศ และเชื่อมโยงกับพันธมิตรในทุกภาคส่วนในการขยายผลการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่ผ่านมา (สวทช.) มีความร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษมาระยะหนึ่ง และในครั้งนี้จะได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อขยายระยะเวลาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่อไปอีก 5 ปี (ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2571) เพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีและเพิ่มขีดความสามารถการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษและงานความมั่นคง รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกันให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
“การขยายความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้ (สวทช.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการนำศักยภาพของบุคลากรและองค์ความรู้ตลอดจนทักษะความเชี่ยวชาญต่างๆ ร่วมกันขยายผลการนำผลงานวิจัยพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติ ตามที่ได้มีความร่วมมือกันก่อนหน้านี้ เช่น ความร่วมมือในการประกวดผลงานนวัตกรรมเทคโนโลยีสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ I4C -Innovation for Crime Combating Conference and Contest) การแลกเปลี่ยนและเป็นที่ปรึกษาด้าน Cybersecurity และ Cryptocurrency รวมทั้งขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มุ่งไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเป้าหมายและเป็นรูปธรรม ตอบสนองความต้องการของประชาชนในประเทศ”
ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย มีภารกิจและอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการป้องกัน การปราบปราม การสืบสวน และการสอบสวนคดีพิเศษ ที่ต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนโดยใช้วิธีการพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ โดยคดีพิเศษมีลักษณะเป็นคดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน หรือมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นเพื่อให้การปฏิบัติภารกิจประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อให้ได้อุปกรณ์เครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงานที่ประสิทธิภาพสูง ทันสมัย และเท่าทันต่อแนวโน้มของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
อย่างไรก็ตาม กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง เนื่องจากจำเป็นต้องประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลากหลายสาขา และยังต้องใช้บุคลากร สถานที่เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริง ซึ่ง (สวทช.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญหลักของประเทศในด้านการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษให้ความสนใจและเกิดความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีร่วมกันอย่างต่อเนื่องและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นทางการต่อไปอีก 5 ปี ข้างหน้าเชื่อว่าจะนำไปสู่การขยายผลงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติ ช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถด้านการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษรวมถึงงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน