DSI ร่วมกับ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มอบบัตรประจําตัวประชาชน ช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2566 : พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และนายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการกองกิจการอำนวยความยุติธรรม ร่วมกับ กรมการปกครอง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม (APASS) ลงพื้นที่เพื่อมอบบัตรประจําตัวประชาชน ให้กับกลุ่มเด็กนักเรียนโรงเรียนตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่–กลุ่มเด็กนักเรียนโรงเรียนเพียงหลวง 3 ณ โรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดน บ้านปิล๊อกคี่ (บ้านปิล๊อกคี่ หมู่ที่ 4 ตำบลปิล๊อก)
โดยวานนี้ วันพุธที่ 9 สิงหาคม 2566 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคประชาสังคม ได้ลงพื้นที่เพื่อมอบบัตรประจำตัวประชาชน ให้กับกลุ่มเด็กนักเรียนโรงเรียนตระเวนชายแดนวิจิตรวิทยาคาร ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน วิจิตรวิทยาคาร (บ้านอีต่อง หมู่ที่ 1 ตำบลปิล๊อก) การมอบบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม 2566
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ลงพื้นที่บ้านปิล๊อกคี่ ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับคณะทำงานของอำเภอทองผาภูมิและสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคประชาสังคม ทำการบันทึกถ้อยคำชนกลุ่มน้อย และ กลุ่มบุคคลชาติพันธุ์ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเด็กนักเรียนซึ่งเป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน จำนวนประมาณ 149 ราย ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่ โรงเรียนเพียงหลวง 3 และโรงเรียนใกล้เคียงให้ได้รับการพิจารณา ลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508
ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้กับกลุ่มเด็กนักเรียนเป้าหมาย
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่เน้นย้ำให้ข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินภารกิจหลักในการบังคับใช้กฎหมายและต้องอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนด้วย โดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของยุติธรรมชุมชน ยุติธรรมสร้างสุข ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องราวต่างๆ ประวัติต่างๆ ของกลุ่มคนที่ไร้สถานะทางทะเบียน กรมฯ ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายอำเภอทองผาภูมิที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมตรวจสอบบุคคลที่มีคำร้องเข้ามาเพื่อขอสัญชาติไทย โดยการพิสูจน์ทราบว่า กลุ่มเด็กนักเรียนโรงเรียนตระเวนชายแดนเป็นบุคคลที่มีสิทธิได้รับสัญชาติจริง ซึ่งในครั้งนี้กรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมมอบสัญชาติไทยและการให้มีสถานะทางทะเบียนกับนักเรียน จำนวน 90 คน โดยโครงการต่อจากนี้ กรมฯ จะเดินหน้าลงพื้นที่อีกหลายจังหวัดโดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคเหนือ แม้กระทั่งในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ ก็จะมีการขยายการดำเนินการในการตรวจสอบในลักษณะดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ได้แก่ กลุ่มชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ (ที่เป็นบุคคลตกหล่น) กลุ่มบุคคลสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ที่เป็นคนไทยติดแผ่นดิน กลุ่มเด็กตัว G (บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน) กลุ่มพระสงฆ์สามเณรไร้สถานะทางทะเบียน และกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ตามโครงการอำนวยความเป็นธรรมด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ซึ่งสามารถช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติดังกล่าว โดยได้รับการพิจารณาลงรายการสัญชาติไทยมาแล้วหลายพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย อำเภออมก๋อย อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย อำเภอไชยปราการ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกอบด้วย อำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในอำเภอบางสะพานน้อย เป็นต้น ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินการอีกหลายพื้นที่ อาทิเช่น ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย กลุ่มชาวเลมอร์แกน ในพื้นที่อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา รวมถึงในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ ที่จะมีการขยายผลไปช่วยเหลือกลุ่มพระสงฆ์สามเณรและกลุ่มอื่นๆ ต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน