พาณิชย์เผย เงินเฟ้อไทยชะลอตัวต่อเนื่อง ปีนี้คาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย
นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 สูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.38 (YoY) ซึ่งอยู่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566) ปัจจัยสำคัญยังคงมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เนื้อสุกร และเครื่องประกอบอาหารส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค. – ก.ค.) ปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 2.19 (AoA) ทยอยปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่กำหนด
เมื่อพิจารณารายละเอียด พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้อยู่ในระดับต่ำ ยังคงมาจากการลดลงต่อเนื่องของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ลดลงค่อนข้างมากถึงร้อยละ 7.92 (YoY) ส่งผลให้หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.38 (YoY) ขณะที่สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว อยู่ที่ร้อยละ 1.49 (YoY) จากร้อยละ 3.37 ในเดือนมิถุนายน 2566 จากการลดลงต่อเนื่องของราคาเนื้อสุกร และเครื่องประกอบอาหาร
อย่างไรก็ตาม สินค้าในกลุ่มผักและผลไม้ อาทิ มะนาว ขิง มะเขือ เงาะ แตงโม และส้มเขียวหวาน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากนัก
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 0.86 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าแรงกดดันของต้นทุนการผลิตมีสัญญาณคลี่คลาย ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย7 เดือน (ม.ค. – ก.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.19 (AoA) ทยอยปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2566 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี จะอยู่ในช่วงที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ (ระหว่างร้อยละ 1.0 – 2.0)
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนมิถุนายน 2566) ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน มีทิศทางชะลอตัวสอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลก และไทยยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำต่อนื่องจากเดือนก่อน อีกทั้งยังต่ำที่สุดในอาเซียนอีกด้วย
เห็นได้ว่า สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยปีนี้คลี่คลายเป็นลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทำงานอย่างเข้มข้นของกระทรวงพาณิชย์ในการกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าและบริการอย่างใกล้ชิด ตลอดห่วงโซ่การผลิต และเดินหน้าช่วยผู้ประกอบการในการลดต้นทุนการผลิตอย่างเต็มความสามารถ อาทิ การดูแลปุ๋ยเคมีให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ และการลดต้นทุนราคาอาหารสัตว์แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ไก่ไข่ และไก่เนื้อ เพื่อให้ราคาขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ รัฐบาลยังกำกับดูแลราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นภาระต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมากจนเกินไป รวมถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของไทย
นายบุณย์ธีร์ ได้เน้นย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงเฝ้าระวังความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สถานการณ์ภัยแล้ง เศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชนและอัตราเงินเฟ้อ เพื่อที่จะได้สามารถกำหนดนโยบายช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพต่อไป
——————————————-
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
7 สิงหาคม 2566