ไฮไลท์

สำนักเลขาฯ และ กระทรวงมหาดไทย เตรียมน้อมเกล้าฯ ถวาย “พลายเอกชัย” ตามขั้นตอนสำนักพระราชวัง


27 กรกฎาคม 2023, 18:03 น.

 

“พลายเอกชัย” เข้าข่าย เป็นช้างสำคัญ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย ขานรับ เตรียมน้อมเกล้าฯ ถวาย “ตามขั้นตอนสำนักพระราชวัง”

 

 

ตามที่ นาย ธนบดี พรหมสุข ประธานศูนย์อนุรักษ์ช้าง ช้างทองคำ จังหวัดมหาสารคาม และเจ้าของช้างพลายเอกชัย ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์กับคณะทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ฯ วุฒิสภาโดยมี ส.ว. นายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะอนุกรรมาธิการ การมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา, นาย บรรหาร บุญเขต ประธานคณะทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ฯ, พล.อ.ต. ณัฏฐอรรจน์ ถวิลหวัง ประธานที่ปรึกษาคณะทำงาน พร้อมคณะทำงานฯ รับเรื่องไว้พิจารณาเมื่อ 14 มิถุนายน 66

 

 

ส.ว. นายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป พร้อมด้วยคณะทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ฯ วุฒิสภาได้เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงรุก ณ พื้นที่พำนัก ช้างพลายเอกชัย ต. ห้วยเเห้ง อ. แก่งคอย จ. สระบุรี เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 66 โดยมี นาย ธนบดี พรหมสุข เจ้าของช้างพลายเอกชัย ได้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมกับ นำชมรูปพรรณสัณฐานพลายเอกชัย อย่างใกล้ชิด

 

 

นาย ธนบดีฯ ชี้แจงให้คณะทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ฯ วุฒิสภา ทราบว่า เมื่อปี พ.ศ. 2561 หัวหน้าโรงช้างต้น (หม่อมหลวง พิพัฒนฉัตร ดิศสกุล) พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ขอตรวจคชลักษณ์พลายเอกชัย ตาม พรบ. สำหรับรักษาช้างป่า พ.ศ. 2464 และจากการตรวจคชลักษณ์เบื้องต้นดังกล่าว พบว่าพลายเอกชัย เป็นช้างเผือกโท ขั้นต่ำ และถือว่าเข้าข่ายเป็นช้างสำคัญ กล่าวคือ มีคชลักษณ์7 ประการ ได้แก่ ตาขาว, เพดานขาว, เล็บขาว, พื้นหนังขาว (หรือสีคล้ายหม้อใหม่), ขนหางขาว และอัณฑโกสขาว (หรือสีคล้ายหม้อใหม่)

 

 

ทั้งนี้ หน่วยเกี่ยวข้อง และผู้เกี่ยวข้อง ต้องปฏิบัติตามพันธะกรณี 2 ประการอย่างเคร่งครัด ดังนี้

(1) กระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด (ในท้องถิ่น) เป็นหน่วยงาน ดูแลช้างสำคัญนี้

(2) ผู้ใดมีช้างสำคัญ โดยเหตุที่ตนจับได้ หรือ โดยเหตุอื่นใดก็ดี ต้องนำขึ้นทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จให้ตามสมควร

 

 

นาย ธนบดีฯ ได้ติดตามความก้าวหน้า ในการเตรียมน้อมเกล้าฯ ถวายพลายเอกชัย ทราบว่า เรื่องยังติดค้างอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย จวบจนปัจจุบันนับเวลาได้ 5 ปีกว่าแล้ว ขณะเดียวกัน ตนฯ ได้รับสัญญาณบอกเหตุถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับช้างพลายเอกชัย โดยเมื่อปลายปี 2564 มีการลอบวางยาแก่ช้าง ของศูนย์อนุรักษ์ช้าง ช้างทองคำ 8 เชือกรวมทั้งพลายเอกชัยด้วย มีช้างเสียชีวิต 3 เชือก และอีก 5 เชือก ถ่ายเป็นเลือดสีแดงเข้ม ทานอาหารไม่ได้ และท้องอืด ต้องเรียกสัตวแพทย์ อ.วาปีปทุม จ. มหาสารคาม มารักษาพยาบาล จึงรอดพ้นวิกฤตในเวลาต่อมา

 

 

ดังนั้นเมื่อ 17 มีนาคม 65 ตนฯ ได้นำพลายเอกชัยเคลื่อนย้ายเข้ากรุงเทพฯ โดยพำนัก ที่วัดเบญจมบพิตรฯ เพื่อความปลอดภัยของทั้งช้าง และเจ้าของ ตลอดจน ควาญช้างทุกคน รวมถึงเตรียมร้องทุกข์ กับสำนักพระราชวัง เพื่อขอถวายช้างสำคัญนี้เป็นสมบัติของแผ่นดิน และเป็นไปตามขั้นตอนพระราชประเพณี ตลอดจนพระราชกำหนดกฎหมายที่มีสืบมาแต่โบราณ แต่เนื่องด้วยมีข้อผิดพลาดทางการติดต่อ สื่อสาร ตนฯ จึงนำพลายเอกชัย มาพำนักชั่วคราว ที่ ต.ห้วยแห้ง อ. แก่งคอย จ.สระบุรี ตั้งแต่ 29 มีนาคม 65 เป็นต้นมา
ต่อมาเมื่อประมาณ มิถุนายน 65 ตนฯ และ “ชมรมทำความดีเพื่อแผ่นดิน” ( คุณ ยองใย เกษมศรี ณ อยุธยา และว่าที่ ร.ต. นิวัติ อิศรางกรู ณ อยุธยา) มีหนังสือกราบเรียน นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องการน้อมเกล้าฯ ถวายช้างสำคัญ ซึ่งในการนี้ นายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่งเรื่องถึงกระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการ

 

 

หลังจากนั้น เมื่อสิงหาคม 65 กระทรวงมหาดไทย โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี และนายอำเภอแก่งคอยฯ ตลอดจน “ชมรมทำความดี เพื่อแผ่นดิน” เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องการน้อมเกล้าฯ ถวายช้างสำคัญต่อไป ในเอกสาร ราชการกระทรวงมหาดไทย อ้างว่า สาเหตุที่เรื่องดังกล่าวเกิดความล่าช้าเพราะต้องดำเนินการตรวจคชลักษณ์พลายเอกชัยใหม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ชำนาญคชลักษณ์ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเท่านั้น แต่ผู้ชำนาญคชลักษณ์ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ได้เสียชีวิต ตั้งแต่ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ขณะนี้กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักพระราชวัง เพื่อขอความอนุเคราะห์ ขอให้ส่งเจ้าหน้าที่ผู้มีความรู้ด้านช้างสำคัญเพื่อตรวจคชลักษณ์ของพลายเอกชัยแล้ว ส่วนขั้นตอนการน้อมเกล้าฯ ถวายช้างสำคัญจะเป็นไปตามที่สำนักพระราชวังกำหนด

 

 

ส.ว. นายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป ประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวว่ารู้สึกสงสารและเห็นใจ เจ้าของพลายเอกชัยที่ต่อสู้และดิ้นรนในการรักษาพลายเอกชัย ให้ปลอดภัย เพราะถือว่า เป็นของหลวง หรือทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน ต้องรักษามิให้ผู้ใดทำอันตรายต่อช้าง ขณะนี้เรื่องความล่าช้าในการเตรียมน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นช้างสำคัญ ได้นำเรียนองคมนตรี ทราบเป็นเบื้องต้นแล้ว และจะให้คณะทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ฯ วุฒิสภา ประสานหน่วยเกี่ยวข้องเร่งรัดต่อไป

 

 

พล.อ.ต. ณัฏฐอรรจน์ ถวิลหวัง ประธานที่ปรึกษาคณะทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ฯ วุฒิสภา กล่าวสรุปต่อ ผู้สื่อข่าวมหาราษฎร์ว่า จากประวัติศาสตร์ และพระราชประเพณีความเชื่อของคนไทยเห็นว่า ช้างเผือกหรือช้างสำคัญที่มีลักษณะต่างจากช้างธรรมดา นับว่ามีลักษณะที่หาได้ยาก และเชื่อถือกันว่าเป็นเครื่องมงคลชนิดหนึ่งในสัปตรัตนะ แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช้างเผือกเกิดขึ้นเพราะพระบารมีของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ซึ่งกล่าวได้ว่าช้างเผือกมีฐานะเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติประดับบารมี ของพระมหากษัตริย์ในอดีตถึงปัจจุบัน นำไปสู่ความเป็นมงคล และบ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข

 

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดไฮไลท์

เรื่องล่าสุด