ชาวฝั่งธนฯ ได้เฮ! “วัชระ” เผยโครงการเชื่อม ถ.พุทธมณฑล 2-3 เตรียมเปิดใช้ต้นปีหน้า
(1 พ.ค.66) นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้ทำหนังสือร้องเรียนและสอบถามต่อสํานักการโยธา กทม. เรื่องโครงการต่อเชื่อมถนนพุทธมณฑลสาย 2 – 3 สิ้นสุดสัญญาไปตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 66 ว่า กทม.
1. ได้ขยายสัญญาให้ผู้รับจ้างหรือไม่ ถ้าขยายสัญญากี่วันถึงเมื่อไร และงานก่อสร้างจะแล้วเสร็จเมื่อใด
2. สาเหตุที่งานก่อสร้างล่าช้าหรือยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญาเพราะอะไร
3. มีการคิดค่าปรับกับผู้รับจ้างตามสัญญาหรือไม่ อย่างไร
ล่าสุด สำนักการโยธาได้ทำหนังสือลงนามโดย นายกิตติพงศ์ ผู้วิจารณ์ ผอ.กองควบคุมการก่อสร้าง ปฏิบัติราชการแทน ผอ.สำนักการโยธา กทม. ชี้แจงว่า โครงการต่อเชื่อมถนนพุทธมณฑลสาย 2-3 เริ่มต้นสัญญางานก่อสร้างวันที่ 20 มี.ค. 64 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 9 มี.ค. 66 ผู้รับจ้างได้ขอขยายอายุสัญญา เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่ง กทม. อยู่ระหว่างพิจารณาการอนุมัติขยายอายุสัญญาให้กับผู้รับจ้าง โดยโครงการฯ ได้วางแผนเร่งรัดการคืนพื้นที่จราจรให้ประชาชน ดังนี้
1.1 สะพานยกระดับพุทธมณฑลสาย 3 กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2566
1.2 สะพานต่างระดับที่เป็นทางร่วมทางแยกไปยังถนนต่อเชื่อมพุทธมณฑลสาย 2 กําหนดแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567
1.3 ถนนต่อเชื่อมระหว่างถนนพุทธมณฑลสาย 2 – 3 กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2567
2. สาเหตุที่งานก่อสร้างล่าช้าหรือยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ผู้รับจ้างเกิดการขาดแคลนแรงงาน ในช่วงตั้งแต่วันเริ่มต้นสัญญาโครงการจนถึงวันที่มีคำสั่งยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน วันที่ 30 มิ.ย.65 ประกอบกับได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมฝนตกหนักในฤดูฝนของปี พ.ศ. 2564-2565 จึงทำให้ โครงการก่อสร้างฯ ไม่สามารถระบายน้ำออกไปสู่คลองบางเชือกหนังได้ เนื่องจากระดับน้ำในคลองบางเชือกหนัง มีระดับสูงกว่าพื้นที่ก่อสร้างของโครงการฯ
3. สัญญาโครงการต่อเชื่อมถนนพุทธมณฑลสาย 2 -3 ได้รับสิทธิ ช่วยเหลือให้อัตราค่าปรับเป็นร้อยละ 0 จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมบัญชีกลางกำหนด
นายวัชระ กล่าวอีกว่า ได้รับการร้องเรียนจากอดีตผู้ใหญ่บ้านว่าบริษัทผู้รับเหมาฯ ทำให้น้ำท่วมที่ดินของชาวบ้าน เมื่อร้องเรียนบริษัทแล้วไม่ได้รับการเยียวยาหรือดูแลแต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีมาตรการป้องกันฝุ่นละอองขณะก่อสร้าง จึงอยากถามนายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผอ.สำนักการโยธา กทม. ว่ามีข้อเท็จจริงเป็นประการใด และการก่อสร้างจะเสร็จจริงตามที่แจ้งมาหรือไม่ ถ้าไม่เสร็จจะทำอย่างไร เพราะมีประชาชนผู้ใช้รถเดือดร้อนวันละนับหมื่นคน และโดยส่วนตัวจากการที่ได้ไปเดินสำรวจถนนที่กำลังก่อสร้าง
ไม่อาจจะเชื่อได้ว่าจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปีหน้าแต่อย่างใด จึงอยากให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เดินทางไปดูพื้นที่ก่อสร้างด้วยตนเองจะได้แก้ปัญหาได้ถูกต้องตรงจุด