ไบโอเทค สวทช. จับมือกรมประมง ในการคัดกรอง ทดสอบและพัฒนาวิธีการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จริง
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ที่ห้องออดิทอเรียม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแถลงความสำเร็จในการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยจุลินทรีย์ดังกล่าวสามารถยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มของเชื้อก่อโรคทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรค และลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์น้ำลงได้ โดยมีความพร้อมในการถ่ายทอดวิธีการผลิตหัวเชื้อสำหรับแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค (สวทช.) เปิดเผยว่า (สวทช.) และกรมประมง มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง “การวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมทางด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” ถึง 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2563 โดยหนึ่งในความร่วมมือที่ (สวทช.) ให้ความสำคัญก็คือ การพัฒนาการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดย (สวทช.) ได้ให้การสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 (ปม.1 ย่อมาจาก ประมง 1) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนคัดเลือกหาเชื้อจุลินทรีย์สายพันธุ์ใหม่ๆ มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมในการนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์สูตรใหม่ ที่ผ่านการทดสอบคุณสมบัติด้านต่างๆ ที่ได้มาตรฐานตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การทดสอบคุณสมบัติเชิงหน้าที่เช่นความสามารถในการย่อยสารอาหาร ความสามารถในการช่วยกำจัดขยะไนโตรเจนหรือลดของเสีย การช่วยปรับเปลี่ยนหรือรักษาสมดุลของประชากรจุลินทรีย์ทั้งในตัวกุ้งและในบ่อ การทดสอบคุณสมบัติด้านความปลอดภัย เช่น การสร้างสารพิษและความเป็นพิษต่อเซลล์สัตว์ การมียีนที่ทำให้เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะและความสามารถในการถ่ายทอดยีนดื้อยาไปสู่สิ่งแวดล้อม การทดสอบคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องการผลิตและการนำไปใช้ ได้แก่ วิธีการผลิต การเจริญเติบโต การสร้างสปอร์ การทนต่อสภาพแวดล้อมของเชื้อ ซึ่งการทดสอบทำทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและระดับฟาร์ม โดยข้อมูลทางวิชาการที่ได้เหล่านี้จะทำให้เกษตรกรเลือกใช้เชื้อได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการผลิตกุ้งดีขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มอัตรารอด และช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรผู้เลี้ยงกุ้งได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้ยังสามารถนำไปสนับสนุนการขึ้นทะเบียนจุลินทรีย์สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้มาตรฐานอีกด้วย
“จากจุลินทรีย์ที่ได้นำมาทดสอบภายใต้ความร่วมมือนี้ พบว่าเชื้อ Bacillus subtilis สายพันธุ์ BSN1 ที่แยกจากถั่วหมักนัตโตะหรือถั่วเน่าญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง (เป็นสายพันธุ์ที่แยกโดยนักวิจัยที่หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้งซึ่งเป็นหน่วยวิจัยร่วมระหว่างไบโอเทค (สวทช.) กับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) มีคุณสมบัติยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มของเชื้อ Vibrio harveyi และ V. parahaemolyticus ซึ่งเป็นสาเหตุสาเหตุของโรคกุ้งเรืองแสงและโรคตับวายแบบเฉียบพลันซึ่งเป็นโรคสำคัญในกลุ่มอาการโรคกุ้งตายด่วน เมื่อนำ BSN1 ไปผสมอาหารให้กุ้งกินพบว่าสามารถช่วยลดอัตราการตายของกุ้งจากการติดเชื้อทั้งสองนี้ได้อีกด้วย ดังนั้น BSN1 จึงมีความเหมาะสมในการนำไปปรับปรุงเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ต่อไป
ทั้งนี้ (สวทช.) ได้ลงนามในสัญญาอนุญาตให้ใช้วัสดุชีวภาพ กับกรมประมงเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้กรมประมงสามารถนำเชื้อ Bacillus subtilis สายพันธุ์ BSN1 ไปใช้ในเชิงสาธารณะประโยชน์ต่อไป” ผู้อำนวยการ ไบโอเทค (สวทช.) กล่าว
ด้าน นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมง และ (สวทช.) ได้มีความร่วมมือทางวิชาการกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2563 ได้ลงนามความร่วมมือกับ (สวทช.) เพื่อร่วมกันดำเนินงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนร่วมกันกำหนดทิศทางงานวิจัยและพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และทำให้สัตว์น้ำไทย มีเอกลักษณ์เป็นที่หนึ่งของโลก ตลอดจนสนับสนุนให้มีการนำผลงานวิจัยต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจากการดำเนินงานร่วมกันของกรมประมง และ (สวทช.) จนกระทั่งพบจุลินทรีย์สายพันธุ์ BSN1 ที่มีศักยภาพ สามารถนำไปต่อยอดผลิตเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.2 จึงนำจุลินทรีย์สายพันธุ์ดังกล่าว มาปรับปรุงเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 2 และขยายผลการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าวไปยังหน่วยงานของกรมประมงในพื้นที่ จำนวน 24 แห่ง เพื่อผลิตและแจกจ่ายให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมไปถึงถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ไปยังสหกรณ์ ชมรมและกลุ่มเกษตรกร จำนวน 18 แห่ง เพื่อผลิตและแจกจ่ายให้กับสมาชิก ส่งผลให้มีการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์อย่างกว้างขวาง ซึ่งช่วยลดการใช้สารเคมีในการเลี้ยงกุ้งทะเล บรรเทาความเสียหายจากการเกิดโรคในกุ้งทะเล และมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งทะเลของไทย ให้พลิกฟื้นกลับมาได้
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน