DSI ส่งสำนวนคดีฟอกเงินในความผิดมูลฐานร่วมกันหลอกลวงให้ลงทุนในธุรกิจซื้อขายรถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริง
ตามนโยบาย พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่เร่งรัดให้ดำเนินการสอบสวนคดีพิเศษให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 37/2562 ซึ่งมีพันตำรวจโท จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ พร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 3 ราย ในข้อหาความผิดฐาน “ฟอกเงิน” ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งคดีนี้เป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงินที่สืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดมูลฐานในคดีพิเศษที่ 34/2557
กรณี นางสาววาณี วีรศักดิ์ธารา กับพวก ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายหลายรายให้ลงทุนในธุรกิจซื้อขายรถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลายรายหลงเชื่อและได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยภายหลังจากที่กลุ่มผู้ต้องหาได้รับเงินที่ได้มาจากผู้เสียหายแล้ว ได้มีการโอนยักย้ายถ่ายเทเงินผ่านบัญชีธนาคารกันเองในระหว่างกลุ่มผู้ต้องหา และยังพบว่ามีการนำเงินไปซื้อกองทุนรวมหรือทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์หลายรายการ ตลอดจนโอนเงินไปให้กับเครือญาติของผู้ต้องหา รวมมูลค่าทรัพย์สินหมุนเวียนที่ได้จากการหลอกลวงผู้เสียหายในบัญชีธนาคารระหว่างกลุ่มผู้ต้องหาเป็นเงินมากกว่า 2,000 ล้านบาท
โดยที่สำนวนคดีพิเศษที่ 37/2562 นี้เป็นการดำเนินคดีฟอกเงินสำนวนที่สองต่อจากสำนวนแรก ที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ไปก่อนหน้านี้ คือ คดีพิเศษที่ 44/2559 ซึ่งเป็นการสอบสวนดำเนินคดีฟอกเงินกับนางสาววาณี วีรศักดิ์ธารา กรณีนำเงินจากการหลอกลวงผู้เสียหายไปซื้อกองทุนรวม มูลค่ากว่า 1,135 ล้านบาท ต่อมาพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องนางสาววาณี วีรศักดิ์ธารา กับพวก ซึ่งศาลอาญาได้รวมการพิจารณาคดีความผิดมูลฐานกับคดีฟอกเงินเป็นคดีเดียวกัน และได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก
นางสาววาณี วีรศักดิ์ธารา กับพวกรวม 3 ราย ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง,มาตรา 5 (1) (จ) มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (3),5 (3),60
ต่อมาคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ทำการสืบสวนสอบสวนขยายผลเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพิ่มเติมอันเป็นที่มาของสำนวนคดีพิเศษที่ 37/2562 นี้ จนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้อีก 3 ราย ที่มีพฤติการณ์ในการฟอกเงินด้วยการโอนเงินที่ได้จากการหลวกลวงผู้เสียหายไปให้กับญาติของตนเอง และนำเงินซื้อทรัพย์สินประเภทคอนโดมิเนียมหลายรายการ รวมมูลค่าทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นเงิน 124,927,424.09 บาท
นอกจากนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษยังได้ประสานการทำงานร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตั้งแต่ในชั้นการดำเนินคดีความผิดมูลฐาน จนนำไปสู่การดำเนินมาตรการทางแพ่ง ในการยึดอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน และอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือ ซ่อนเร้นทรัพย์สิน ทำให้คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหา พร้อมดอกผล และมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืน หรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย ซึ่งศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจำนวน 75 รายการ ราคาประเมินมากกว่า 380 ล้านบาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายตามสัดส่วน อันเป็นผลทำให้ประชาชนผู้เสียหายทุกรายได้รับการเยียวยาความเสียหายจากการถูกหลอกลวง
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน