กระทรวงยุติธรรม ครบรอบสถาปนา 132 ปี ก้าวต่อไปสู่การเป็นศูนย์กลาง การบริหารงานยุติธรรมของประเทศ
ในวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2566 กระทรวงยุติธรรม จัดงานครบรอบวันสถาปนากระทรวงยุติธรรม 132 ปี โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ก้าวต่อไปกระทรวงยุติธรรมสู่ทศวรรษหน้าในการอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชน” พร้อมด้วย นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นางอรัญญา ทองน้ำตะโก รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม และข้าราชการกระทรวงยุติธรรม ร่วมงาน โดยในช่วงเช้า มีการทำบุญแด่พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ ณ อาคารกระทรวงยุติธรรม
นายวิษณุ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมมีประวัติอันยาวนาน นับย้อนหลังไปได้ถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ที่มีการปฏิรูปราชการทั้งระบบ ภารกิจของกระทรวงยุติธรรมถูกจัดให้มีบทบาทเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญ และมีหน่วยงานในสังกัดเพิ่มขึ้น ที่ขอยกตัวอย่างในที่นี้ คือกรมราชทัณฑ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีภารกิจที่ส่งผลให้ประชาชนรู้จักกระทรวงยุติธรรมมากขึ้น อาทิ การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่เดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม การเยียวยาเหยื่อผู้เสียหายในคดีอาญา และการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนทั่วประเทศ เป็นต้น จึงอยากให้ข้าราชการได้ตระหนักและทำประโยชน์ให้กับประเทศและสังคมต่อไป
สำหรับก้าวต่อไปของกระทรวงยุติธรรมสู่ทศวรรษหน้า กระทรวงยุติธรรมควรมุ่งเน้นพัฒนาความร่วมมือในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนทั้งระบบ รวมทั้งการประสานกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม คือ ตำรวจ อัยการ ศาล หรือการผลักดันให้สำนักงานกิจการยุติธรรม รับผิดชอบในการปฏิรูปกฎหมายในภาพรวมทั้งประเทศ สำหรับภารกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของความแท้จริง หรือ REAL ประกอบด้วย 1. R-Regulation กระทรวงยุติธรรมต้องเป็นหน่วยงานที่ดูแลกฎระเบียบต่างๆ แนะนำปรับปรุงกฎหมาย การสังคยานากฎหมายใหม่ ซึ่งอาจดำเนินการในรูปของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายโดยเฉพาะ 2. E-enforcement การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย 3. A-Accessibility คือ การเข้าถึงกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมต้องมีหน้าที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกฎหมายได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว โดยการนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาปรับใช้ และ 4. L- Law Abiding Citizen การทำให้ประชาชนเคารพต่อกฎหมาย การพัฒนาพฤตินิสัยภายหลังพ้นโทษ กระทรวงยุติธรรมที่มีภารกิจในการดูแลผู้ถูกคุมความประพฤติ และผู้ต้องขัง โดยการสานต่อนโยบายนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์
ต่อจากนั้น รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้มอบเข็มเครื่องหมายยุติธรรมธำรง พร้อมเกียรติบัตร ประจำปี 2566 แก่บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์หรือผู้ให้การสนับสนุนกิจการหรือราชการของกระทรวงยุติธรรม ชั้นที่ 1 จำนวน 3 รางวัล และ ปลัดกระทรวงยุติธรรม มอบเข็มเครื่องหมายยุติธรรมธำรง พร้อมเกียรติบัตร ประจำปี 2566 แก่บุคคล ผู้ทำคุณประโยชน์ หรือผู้ให้การสนับสนุนกิจการหรือราชการของกระทรวงยุติธรรม ชั้นที่ 3 จำนวน 11 รางวัล และชั้นที่ 4 จำนวน 80 รางวัล มอบโล่รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2565 ของกระทรวงยุติธรรม จำนวน 18 รางวัล และมอบรางวัลผลงานวิจัย จำนวน 6 รางวัล จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีฯ และคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการผลงานให้ความช่วยเหลือประชาชนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม
ทั้งนี้ ภายในงานได้มีกิจกรรมการบริจาคทรัพย์เข้ากองทุนยุติธรรม และกิจกรรม “หนึ่งการให้ ได้สองเท่า” เพื่อเด็กและเยาวชนของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนอีกด้วย
/////////