“ไตรรงค์” โพสต์เป็นนัย ก้าวข้ามความขัดแย้งที่โลกสรรเสริญ ?
#การก้าวข้ามความขัดแย้งที่โลกสรรเสริญ #ตอนที่2
ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า
ในตอนที่ 1 ผมได้พูดถึงวีรกรรมของ เรียวมะ (Sakamoto Ryoma) จากแคว้นโทซะ (Tosa) (เมืองโคจิในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นผู้เจรจาให้ 2 แคว้นใหญ่ที่เป็นศัตรูกัน กลับมาจับมือกันเพื่อร่วมกันทำสงครามกับกองทัพฝ่ายเผด็จการของ โชกุน โตกุกาว่า ที่ปกครองญี่ปุ่นโดยการกดขี่ขูดรีด ชาวไร่ชาวนามาถึง 266 ปี มีคนถามมาว่า “โชกุน” คือตำแหน่งอะไร ผมขออธิบายว่า “โชกุน” เป็นตำแหน่งเสมือนเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่สมเด็จพระจักรพรรดิทรงแต่งตั้งขึ้นไม่ใช่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะญี่ปุ่นสมัยโบราณก็เหมือนประเทศไทยคือปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมีสมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่ที่แปลกอยู่มากก็คือในญี่ปุ่นนั้นตระกูลใดได้รับแต่งตั้งเป็นโชกุน ตัวโชกุนก็จะใช้อำนาจทางการทหารของตนค่อย ๆ ลดอำนาจขององค์จักรพรรดิในทุก ๆด้านจนอำนาจการปกครองประเทศตกอยู่กับโชกุนเพียงผู้เดียว โชกุนก็จะแต่งตั้งตัวแทนให้ปกครองแคว้นต่าง ๆภายใต้บังคับบัญชาของตน ตัวแทนดังกล่าวเรียกกันว่า ไดเมียว (Daimyo) แต่โชกุนก็จะบอกประชาชนว่าพวกตนบริหารประเทศในนามของพระจักรพรรดิ ซึ่งทั้งคนในญี่ปุ่นและชาวต่างประเทศก็หลงเชื่อว่า เป็นเช่นนั้นจริง ๆ
แต่เมื่อ เรียวมะ สามารถเจรจาให้แคว้นซัตสึมะและแคว้นโชชูเลิกเป็นศัตรูและรวมกำลังกันโดยการนำของหัวหน้าซามูไรแห่งแคว้นซัตสึมะ ได้ประกาศสงครามกับกองทัพของโชกุนเพื่อบังคับให้เลิกระบบเผด็จการโชกุนแล้วมอบอำนาจการปกครองประเทศให้พระจักรพรรดิเพื่อจะได้เริ่มปฏิรูปประเทศ พระจักรพรรดิจึงได้ทรงแต่งตั้งให้หัวหน้าซามูไรแห่งแคว้นซัตสึมะเป็นแม่ทัพในนามของพระจักรพรรดิ สงครามจึงดำเนินไปอย่างดุเดือด ฝ่ายกองทัพของจักรพรรดิที่มีแม่ทัพชื่อ ไซโก ทากาโมริ (Saigo Takamori) สามารถเอาชนะกองทัพของโชกุน ในทุก ๆ สนามรบ จนสามารถรุกคืบจากทางใต้ของเกาะฮอนชู (เกาะใหญ่ที่สุด) เข้ายึดกรุงเกียวโต โอซากา จนไปล้อมเมืองโตเกียว (ตอนนั้นชื่อเมือง เอโดะ) กองทัพทั้งสองได้ปะทะกันอย่างดุเดือดที่สนามรบ อูเอโนะ (Ueno) จนโชกุนต้องให้ตัวแทนของตนมายอมจำนนต่อแม่ทัพไซโก ทากาโมริ (ปัจจุบันจึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ของไซโก ทากาโมริ ไว้ที่นั่น) แต่ก็ยังมีผู้ที่ยังไม่ยอมแพ้ เชื่อฟังคณะทหารของฝรังเศสที่นำโดย จูลส์ บรูเน็ต (Jules Brunet) ให้เคลื่อนทัพหนีไปตั้งหลักที่เกาะฮอกไกโดเหนือสุดของญี่ปุ่นประกาศตั้งสาธารณรัฐเอโซะเป็นเอกราชไม่ขึ้นกับพระจักรพรรดิ กองทัพพระจักรพรรดิจึงตามไปบดขยี้ฝ่ายรัฐบาลตายไป 1,500 คน ฝ่ายกบฏตายไป 8,000 คน สงครามจึงยุติ ส่วนพวกทหารฝรั่งเศสก็ลงเรือหนีกลับประเทศฝรั่งเศสมิได้สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับผู้ที่แพ้สงคราม (ก็คงเหมือนสงครามในเวียดนามและในอาฟกานิสถานนั้นแหละครับ)
เมื่อสงครามสงบแล้วแทนที่จะมีความอาฆาตมาดร้ายผู้ชนะสามารถขยี้ผู้แพ้สงครามอย่างไรก็ได้ แต่ ไซโก ทากาโมริ ผู้นำคนสำคัญที่สุดของกองทัพพระจักรพรรดิกลับยืนกรานให้มีการผ่อนผันไม่เอาโทษต่อฝ่ายแพ้สงคราม จึงปรากฏว่าในการจัดตั้งรัฐบาลของพระจักรพรรดิเมจิในเวลาต่อมามีอดีตผู้นำในรัฐบาลของโชกุน (ผู้แพ้สงคราม) หลายคนได้รับตำแหน่งในงานสำคัญ ๆ ภายใต้รัฐบาลใหม่ของพระจักรพรรดิเมจิใน ค.ศ.1968 (พ.ศ.2511) ทำให้ความแตกแยกกลับมาสมานกันได้ เกิดความสงบ มีสันติภาพภายในประเทศอย่างยาวนานน่ายกย่อง เป็นตัวอย่างที่ดีในการที่ ไซโก ทากาโมริ สามารถนำประเทศก้าวข้ามความขัดแย้งอย่างน่าสรรเสริญ เป็นยิ่งนัก
หลังสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา (ค.ศ.1861-1865) ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ก็เคยให้นิรโทษกรรมแต่ทหารทุกฝ่ายหลังจากสงครามยุติ
ประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดรา (Nelson Mandera) ก็เคยให้นิรโทษกรรมแก่ทุกฝ่ายหลังจากยุติสงครามระหว่างชนผิวขาวกับชนผิวดำได้สำเร็จ และตนเองได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐอาฟริกาใต้ (พ.ศ.2537-2542)
ประเทศไทยเคยมี ส.ส.เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทางการเมืองสำหรับความผิดที่กระทำตั้งแต่ ปี พ.ศ.2549-2565 โดยไม่รวมคดีทุจริตคอรัปชัน คดีความผิดมาตรา 112 และคดีอาญาร้ายแรงฆ่าคนตาย ต่อสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ขอถามหน่อย #ทำไมไม่ผ่านครับ