อำนาจใด “ยืนอยู่ค้ำฟ้า” !
ทั้งในตำนาน และความเป็นจริง
ยุค “สามก๊ก” ฉบับนายทุน
ตัวละครในเรื่อง “สามก๊ก” บทบาทแต่ละบุคคล ประเดี๋ยวก็แตกแยก รบพุ่งฆ่าฟันกัน แต่อีกประเดี๋ยว ก็เข้ารวมกลุ่มกัน พอติดแล้ว ก็แตกออกไปอีกต่างคน ต่างได้ทำไว้ต่อกันทั้งคุณและโทษ แต่คุณนั้นก็มิได้ก่อให้เกิดกตัญญู และโทษก็มิได้กำเนิดแก่การพยาบาท ทุกคนพร้อมที่จะลืม ทั้งคุณและโทษ ของทุกคนได้เสมอ บุคคลต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นนักการเมืองโดยแท้ !
“อนึ่ง อำนาจนั้นเหมือนยาเสพติด ถ้าได้มาแล้ว ก็ย่อมวางไม่ลง และย่อมต้องการอยู่เสมอ ไม่มีวันพอได้”
ฉะนั้น เราจะเห็นว่านักการเมืองโดยทั่วไป บำเพ็ญกรณีเพื่อแสวงหาอำนาจ เมื่อได้มาแล้ว ก็อยากได้ต่อไปอีก
ในที่สุดอำนาจนั้นเอง ได้ทำลายตนลงไป เช่นยาเสพติด ย่อมทำลายผู้เสพ ฉันใดก็ฉันนั้น !
คอลัมน์คมวาทะ
ข้อความเหล่านี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตปราชญ์สยาม เขียนเอาไว้ใน “สามก๊กฉบับนายทุน” ตอน “โจโฉ นายกฯ ตลอดกาล”
เช่นเดียวกับสมเด็จกรมพระยาดำรงค์ราชานุภาพ ที่เขียนว่า “เรื่องสามก๊กนั้น แต่งได้ดีจริง”
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ระบุว่า ผู้เล่าเรื่องนี้ เล่าถึงชีวิตคน ๆ หนึ่ง ซึ่งถูกประนามว่า เป็นคนใจร้ายอำมะหิต มาเป็นเวลาพันกว่าปี ได้พยายามชี้ให้เห็นคนที่ถูกกล่าวหา ว่าร้ายนั้น อาจพิจารณาให้เห็น เป็นคนดีด้วยเหตุผลก็ได้
“โจโฉ” เป็นคนธรรมดาสามัญ ย่อมประกอบไปด้วยทั้ง ความโกรธ โลภ หลง และความปราถนาต่าง ๆ
กิเลสต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ “โจโฉ” ปฏิบัติการผิดพลาด ไปเป็นครั้งคราว
แต่ความผิดพลาด ก็ไม่มาก หรือน้อยไปกว่าคนอื่น ๆ
เหตุที่ความผิดพลาดของ “โจโฉ” มีผู้เห็นเป็นเรื่องใหญ่ ก็เพราะ “โจโฉ” อยู่ในตำแหน่งใหญ่
เจตนาดีของ “โจโฉ” ที่มีต่อบ้านเมืองนั้น จึงถูกบดบัง ไปด้วยข้อหา ของฝ่ายปรปักษ์ !
ดังนั้น ยุคนี้สมัยนี้ ฝ่ายใด เป็น “เล่าปี่” ฝ่ายใดเป็น “โจโฉ” เห็นทีต้อง ใช้วิจารณญานกันเอาเอง
เพราะทั้ง “โจโฉ” และ “เล่าปี่” ต่างก็อ้างประชาชนบังหน้า ด้วยกันทั้งนั้น !
เอ็ม 79