การเมือง

แน่ใจนะ ??? จะไม่นำสายสีส้มเข้า ครม. จนกว่าศาลฯ จะตัดสินถึงที่สุด


23 กุมภาพันธ์ 2023, 11:40 น.

 

แน่ใจนะ ???
จะไม่นำสายสีส้มเข้า ครม.
จนกว่าศาลฯ จะตัดสินถึงที่สุด

รมว. คมนาคม ประกาศก้องว่าจะไม่เสนอผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มให้ ครม. พิจารณาจนกว่าศาลปกครองจะพิพากษาถึงที่สุด จึงน่าติดตามว่าจะเป็นจริงตามคำประกาศหรือไม่ ?

 

ถึงเวลานี้มีคดีรถไฟฟ้าสายสีส้มค้างอยู่ในศาลปกครอง 3 คดี ดังนี้

 

1. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลครั้งที่ 1

 

วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 รฟม. ประกาศเชิญชวนหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) โดยเปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ในวันที่ 10-24 กรกฎาคม 2563

 

วันที่ 6 สิงหาคม 2563 หลังจากปิดขายเอกสาร RFP บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสาร RFP รายหนึ่งมีหนังสือขอให้ รฟม. เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล

 

วันที่ 21 สิงหาคม 2563 รฟม. (โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ) มีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล หลังจาก ITD ได้ขอให้เปลี่ยนเพียงประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ รฟม. ได้ใช้เวลาศึกษามาอย่างละเอียดรอบคอบถึงเกือบ 2 ปี

 

ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์ประมูลใหม่ไว้เป็นการชั่วคราว และต่อมาได้พิพากษาว่าการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลครั้งที่ 1 เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ได้ยื่นอุทธรณ์ คดีนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

 

2. BTSC ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. กรณียกเลิกการประมูลครั้งที่ 1

เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ไม่สามารถเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลได้ เนื่องจากศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์ประมูลใหม่ไว้เป็นการชั่วคราว คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. จึงได้ยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564
ศาลปกครองกลางได้พิพากษาว่าการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 เป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ได้ยื่นอุทธรณ์ คดีนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

 

3. BTSC ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. กรณีกีดกันและเอื้อประโยชน์เอกชนบางรายในการประมูลครั้งที่ 2 ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง

 

มาดูกันว่ามีการกีดกันและเอื้อประโยชน์เอกชนบางรายในการประมูลครั้งที่ 2 หรือไม่ ?

 

(1) ผู้ยื่นประมูลจะต้องประกอบด้วยผู้เดินรถไฟฟ้าและผู้รับเหมา ในการประมูลครั้งที่ 2 รฟม. ลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง แต่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น การทำเช่นนี้เป็นการกีดกันและเอื้อประโยชน์เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ?
คุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าที่ลดลง เช่น ไม่ต้องมีผลงานการเดินรถในไทย และไม่ต้องมีผลงานจัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้ง เป็นต้น ซึ่งในการประมูลครั้งที่ 1 กำหนดให้ต้องมีผลงานดังกล่าว อีกทั้ง การประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองของ รฟม. ก็ต้องมีผลงานดังกล่าวเช่นเดียวกัน

 

คุณสมบัติของผู้รับเหมาที่เพิ่มขึ้น เช่น ผู้รับเหมาต้องมีผลงานกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย และต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จ เป็นต้น ซึ่งการประมูลครั้งที่ 1 ไม่ได้กำหนดให้มีผลงานกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย และไม่ต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จ

 

หาก รฟม. ไม่ลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง จะทำให้ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ไม่สามารถร่วมยื่นประมูลกับ ITD ได้ และหาก รฟม. ไม่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น จะทำให้ BTSC ร่วมกับบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ที่เคยยื่นประมูลครั้งที่ 1 จะสามารถยื่นประมูลครั้งที่ 2 ได้ด้วย

 

(2) การลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง แต่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น เป็นการเปิดกว้างการแข่งขันมากกว่าการประมูลครั้งที่ 1 หรือไม่ ?

 

การเปิดโอกาสให้ผู้เดินรถไฟฟ้าต่างประเทศสามารถเข้าร่วมประมูลได้ ดูเหมือนว่าเป็นการเปิดกว้างการแข่งขัน แต่ในความเป็นจริง ผู้เดินรถไฟฟ้าต่างประเทศจะต้องยื่นประมูลร่วมกับผู้รับเหมา ซึ่งผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในโลกนี้มีเพียง 2 รายเท่านั้น และทั้ง 2 รายเป็นผู้รับเหมาไทย อันเป็นผลมาจากการเพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีผู้เดินรถไฟฟ้าต่างประเทศเข้าร่วมประมูลแค่เพียงรายเดียวเท่านั้น นั่นคือ ITC จากเกาหลีใต้ โดยประมูลร่วมกับ ITD ซึ่งเป็นผู้รับเหมา 1 ใน 2 รายที่มีคุณสมบัติครบถ้วน

 

ดังนั้น การลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง แต่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น จึงไม่เป็นการเปิดกว้างการแข่งขันมากกว่าการประมูลครั้งที่ 1 แต่อย่างใด

 

(3) การประมูลครั้งที่ 2 รฟม. ให้ผู้รับเหมาเป็นผู้นำกลุ่มผู้ยื่นประมูลได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ?
การยอมให้ผู้รับเหมาสามารถเป็นผู้นำกลุ่มได้ ทำให้ ITD สามารถเป็นผู้นำกลุ่ม ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ ITC ได้ หากผู้รับเหมาไม่สามารถเป็นผู้นำกลุ่มได้ ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องเป็นผู้นำกลุ่มเหมือนกับการประมูลครั้งที่ 1 ถามว่า ITC ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ จะเป็นผู้นำกลุ่มได้หรือ ?

 

ในทางที่ถูกต้อง ผู้นำกลุ่มควรเป็นผู้เดินรถไฟฟ้า เนื่องจากเขาจะต้องรับผิดชอบการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้ารวมทั้งซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดทั้งสายเป็นเวลาถึง 30 ปี ไม่ใช่ผู้รับเหมาที่ทำการก่อสร้างสายสีส้มตะวันตกเพียง 6 ปี

 

โดยสรุป ผมคาดว่าการตัดสินคดีเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลครั้งที่ 1 และคดียกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดคงใช้เวลาอีกไม่นาน แต่การตัดสินคดีกีดกันและเอื้อประโยชน์เอกชนบางรายซึ่งอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลางคงใช้เวลาอีกพอสมควร

 

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องติดตามกันอย่างไม่กะพริบตาว่า จะมีการเสนอผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในเร็ววันนี้หลังจากทราบผลพิพากษา 2 คดี จากศาลปกครองสูงสุด โดยไม่รอคดีที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลางหรือไม่ ?

 

หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง

 

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดการเมือง

เรื่องล่าสุด