“ไชยา” ซัด ลับลวงพราง ทอท.ทำสัญญาทาส ตรวจบัตรโดยสารอัตโนมัติ ประกันรายได้เอกชนสูง 90% ทำรัฐเสียประโยชน์
วันที่ 17 ก.พ. 2566 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 นายไชยา พรหมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ได้อภิปรายถึงกรณีที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) ทำสัญญาระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่องด้วยตัวเอง (CUPPS) กับเอกชน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่าโครงการทั้งสิ้น 8,619,899,751.32 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มีระยะเวลาการดำเนินการ 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2573 และสัญญาสนามบินอีก 5 แห่ง ได้แก่ ดอนเมือง หาดใหญ่ ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย มูลค่า 7,602.135 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขค้ำประกันรายได้ให้เอกชน 90% ของจำนวนผู้โดยสาร
ซึ่งพบว่าปี 2564 คาดผู้โดยสารจำนวน 32 ล้านคน เงื่อนไขจ่ายค่าจ้างบริการ 607 ล้านบาท ขณะที่ผู้โดยสารจริงมีเพียง 5 ล้านคน ปี 2565 คาดผู้โดยสารจำนวน 55 ล้านคน เงื่อนไขจ่ายค่าจ้างบริการ 662 ล้านบาท ขณะที่ผู้โดยสารจริงมีเพียง 10 ล้านคน เท่าปี 2566 คาดผู้โดยสารจำนวน 55 ล้านคน เงื่อนไขจ่ายค่าจ้างบริการ 1,040 ล้านบาท, ปี 2567 คาดผู้โดยสาร 78 ล้านคน เงื่อนไขจ่ายค่าบริการ 1,474 ล้านบาท เป็นต้น จะเห็นได้ว่าแม้ช่วงปี 2564 และปี 2565 จำนวนผู้โดยสารจะมีต่ำกว่าคาด แต่ ทอท. ต้องจ่ายค่าจ้างให้เอกชนตามจำนวนผู้โดยสารที่คาดการณ์ และเป็นเงื่อนไขตลอดอายุสัญญา 10 ปี (1 ต.ค. 2564-30 ก.ย. 2573) อีกทั้งประมาณการผู้โดยสารในปี 2567 จะมีการเปิดใช้อาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) ด้วย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน
นอกจากนี้ มีการแอบทำสัญญาในช่วงโควิด-19 ซึ่งไม่มีผู้โดยสารเดินทาง ทำให้ ทอท. สูญเสียรายได้แถมยังต้องจ่ายเอกชน เป็นค่ากินเปล่ามา 2 ปี ถือว่าเป็นการทำสัญญาทาส ที่ขาดความรอบคอบ เสียเปรียบเอกชน เอื้อประโยชน์เอกชน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบต่อผลประกอบการ ทอท. และกระทบต่อผลประโยชน์ที่รัฐที่ถือหุ้น 75% ในรูปของเงินปันผล และไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ เป็นความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157 เรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้กำกับดูแล ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
นายไชยา พรหมา กล่าวว่า เรื่องนี้มีทางออกที่ต้องเร่งแก้ไขสัญญาทาสนี้ เพราะยังสามารถเจรจากับเอกชนเพื่อขอแก้ไขสัญญาให้เกิดความเป็นธรรม และรัดกุมมากขึ้น และสามารถส่งสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแก้ไขได้ เนื่องจากสัญญานี้ยังไม่ผ่านความเห็นชอบอัยการสูงสุด ดังนั้น ในสัญญาข้อ 16 เปิดโอกาสให้แก้ไขสัญญาได้ หากภายหลังปรากฏว่ากรณีดังกล่าวมีความจำเป็นที่ต้องให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาเพื่อให้สัญญามีความสมบูรณ์ ตามมาตร 93 (5) ผู้รับจ้างตกลงยินยอมให้ผู้ว่าจ้าง ส่งสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาภายหลังได้