กรมทรัพย์สินทางปัญญา จับมือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมดันแหล่งผลิตสินค้า GI เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางท่องเที่ยวไทย หวังดึงนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ สร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่นได้อีกทาง
กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าเชิงรุกผลักดันแหล่งผลิตสินค้า GI เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางท่องเที่ยวไทย โดยบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ไทย และต่อยอดแหล่งผลิตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งใหม่ สร้างโอกาสและสร้างรายได้ให้ผู้คนในชุมชน พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ไทย ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของไทยให้เข้มแข็ง สินค้า GI ไทยประเภทต่าง ๆ ทั้งในกลุ่มสินค้าประเภทอาหาร ผลผลิตทางการเกษตร และสิ่งของเครื่องใช้ รวม 177 รายการ ล้วนเป็นครื่องมือในการถ่ายทอดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนในแต่ละท้องถิ่น และถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้มากกว่า 48,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อนำมาผนวกกับการท่องเที่ยวสินค้า GI จึงเป็นตัวชูโรงสำคัญที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม”
“ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ณ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบตามแนวทางที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเสนอ ทั้งการนำแหล่งผลิตสินค้า GI บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์และโครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของ อพท. และการส่งเสริมแหล่งผลิตสินค้า GI ให้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการท่องเที่ยว ในแคมเปญ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย…เที่ยวได้ทุกวัน ในปี 2566 ของ ททท. ชูความแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ของแต่ละภาค เพื่อให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมด้านการแข่งขันและความท้าทายด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ และปักหมุดหมายการท่องเที่ยวแหล่งผลิตสินค้า GI ของไทยให้กับนักท่องเที่ยว ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการใช้ Soft Power เผยแพร่อัตลักษณ์วัฒนธรรมไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนของประเทศกระจายรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น
ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่ช่วยต่อยอดให้แหล่งผลิตสินค้า GI เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ พร้อมยกระดับสินค้า GI ในมิติด้านการท่องเที่ยว นำมาสู่การสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นายวุฒิไกร กล่าวทิ้งท้าย