ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

บังคับใช้จริง! ศาลสั่งเฝ้าระวังผู้พ้นโทษ ประเดิมติดกำไลอีเอ็มรายแรก


30 มกราคม 2023, 18:49 น.

 

บังคับใช้จริง! ศาลสั่งเฝ้าระวังผู้พ้นโทษ ประเดิมติดกำไลอีเอ็มรายแรก

 

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566 นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เผยศาลจังหวัดลำพูนมีคำสั่งกำหนดใช้มาตรการเฝ้าระวัง ติดกำไล EM นักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 จำนวน 1 ราย พบประวัติและพฤติกรรมเสี่ยงกระทำความผิดซ้ำเกินกว่าระดับกลางค่อนไปทางสูง

อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า ภายหลังคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ได้เสนอรายงานและความเห็นต่อพนักงานอัยการจังหวัดลำพูนใช้มาตรการเฝ้าระวังตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 เพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลให้กำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดรายหนึ่งที่ครบกำหนดพ้นโทษออกจากเรือนจำจังหวัดลำพูน ในวันที่ 28 มกราคม 2566 เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ หลังพบประวัติเคยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสและกระทำความผิดฐานอื่น โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเมาสุรา รวมทั้งมีอาการทางจิต ซึ่งเคยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง อีกทั้งขณะจำคุกยังเคยก่อเหตุทำร้ายร่างกายนักโทษคนอื่น ล่าสุด ศาลจังหวัดลำพูนจึงมีคำสั่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดรายดังกล่าวภายหลังพ้นโทษให้อยู่ภายใต้การดูแลของพนักงานคุมประพฤติ และกำหนดมาตรการต่าง ๆ ประกอบด้วย

 

1. ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหายและครอบครัวเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันปล่อยตัว

 

2. ห้ามออกนอกประเทศเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันได้รับการปล่อยตัว

 

3. ห้ามก่ออันตรายในละแวกชุมชนที่พักอาศัย

 

4. เมื่อได้รับการปล่อยตัวให้พักอาศัยที่บ้านเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันได้รับการปล่อยตัว

 

5. รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี ตามวันและเวลาที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด

 

6. ให้มาพบหรือรับการตรวจรักษาจากแพทย์หรือแพทย์ที่พนักงานคุมประพฤติกำหนดเป็นเวลา 1 ปี โดยให้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลหรือแพทย์อนุญาตให้เข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ และให้รายงานผลการรักษาทางการแพทย์ต่อพนักงานคุมประพฤติอย่างต่อเนื่อง

 

7. แจ้งพนักงานคุมประพฤติทราบถึงการเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงานเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันพ้นโทษ และ

 

8. ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันพ้นโทษ เพื่อติดตามพฤติกรรม

อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวอีกว่า ตนได้ลงพื้นที่จังหวัดลำพูน เพื่อติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานคุมประพฤติตามคำสั่งของศาลอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ ได้ติดกำไล EM ให้นักโทษเด็ดขาดรายดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ประสานทางโทรศัพท์แจ้งให้ผู้เสียหายทราบแล้ว เพื่อให้ผู้เสียหายได้ทราบว่าผู้ที่เคยก่อเหตุพ้นโทษจากเรือนจำแล้ว เป็นการแจ้งเตือนเพื่อป้องกันอีกทางหนึ่ง โดยพนักงานคุมประพฤติได้กำหนดรัศมีในการห้ามเข้าใกล้บ้านของผู้เสียหายในรัศมี 1 กิโลเมตร หากผู้พ้นโทษเข้าไปในระยะดังกล่าวกำไล EM จะสั่นเตือนให้เจ้าตัวทราบ อีกทั้งแจ้งเตือนไปยังศูนย์ JSOC และพนักงานคุมประพฤติในพื้นที่ให้ทราบโดยทันที ซึ่งสามารถประสานหน่วยงานภาคีเครือข่ายช่วยกันป้องกันเหตุให้ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อความปลอดภัยของผู้เสียหายและสังคม นอกจากนี้ พนักงานคุมประพฤติ จะต้องทำรายงานการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษเสนอศาลทุก 6 เดือนต่อไป

 

อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวเสริมว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการใส่กำไล EM กับบุคคลพ้นโทษตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้สังคมมีความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ ทุกคนสามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่อง เฝ้าระวังการก่ออาชญากรรม เพื่อช่วยสร้างความปลอดภัยแก่พี่น้องประชาชน

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

เรื่องล่าสุด