เกษตรกรสวนลำไย บุกทำเนียบ ทวงเงินเยียวยา หลังถูกดองนาน นายกฯส่งพีระพันธุ์ เคลียร์เอง รับล่าช้าเพราะติดระเบียบราชการ
เมื่อวันที่ 26 ม.ค.66 เวลา 13.30 น.ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล จ.ส.อ.นิกร บุญชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ นำตัวแทนเกษตรกรยื่นหนังสือติดตามเงินเยียวยาเงินเกษตรกรชาวสวนลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ ไร่ละ 2,000 บาท ถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 มีมติให้มีการเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกลำไยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค โควิด -19 ในอัตราไร่ละ 2,000 บาท ต่อรายไม่เกิน 25 ไร่ กรอบวงเงิน 3,821 ล้านบาท ซึ่งทางเครือข่ายเกษตรกรได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าเรื่องโครงการเยียวยาดังกล่าวยังไม่มีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา ซึ่งเวลาได้เนิ่นนาน และเหลือเวลาที่รัฐบาลจะครบวาระอีกไม่กี่เดิม เครือข่ายข่ายเกษตรกรลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ เกรงว่าจะไม่ได้รับการเยียวยา อีกทั้งขณะนี้ชาวสวนลำไยประสบภาวะ ขาดทุนต่อเนื่อง จึงขอให้นายกรัฐมนตรี รับทราบความเดือดร้อนของเกษตรกร และนำเรื่องดังกล่าวเข้า ครม. เร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนชาวเกษตรกร
โดยนายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงเงินเยียวยาในส่วนนี้เกษตรกรจะต้องได้รับ แต่เวลาผ่านมาเนิ่นนานก็ยังไม่ได้รับ ซึ่งเมื่อตอนที่นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 เกษตรกรกลุ่มนี้ก็ไปยื่นเรื่องถึงนายกฯ ซึ่งนายกฯ มอบหมายให้ตนกลับมาติดตามเรื่อง และเดี๋ยวจะชี้แจงว่าขั้นตอนต่าง ๆเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบสาเหตุที่จ่ายเงินเยียวยาล่าช้าเพราะติดที่ระเบียบราชการที่ต้องผ่านหลายกระทรวง เพราะเป็นเงินจำนวนมาก และนายกฯก็สั่งการให้เร่งรัดแล้ว อย่างไรก็ตามยอมรับว่าตอนนี้ปัญหาร้องเรียนของประชาชนมีเยอะมาก แต่ตนก็ไม่หนักใจ
ด้าน จ.ส.อ.นิกร บุญชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ เปิดเผยว่า “จากการที่เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือได้ติดตามเรื่องเยียวยาลำไย ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินงานและมีการแถลงข่าวเป็น ระยะ ๆ ว่าได้รวบรวมข้อมูล ตัวเลข และความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว และเตรียมเสนอเข้าวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรี แต่ความเป็นจริง ก็มีข้อผิดพลาด ด้านเอกสารขั้นตอน การปฏิบัติ ตามระเบียบงานราชการเกิดขึ้น ทำให้เรื่องเยียวยาลำไย ล่าช้าจนรัฐบาลใกล้จะครบวาระ และเป็นที่สังเกต ว่าอาจมีบางคนหรือ บางกลุ่มในกระทรวงเกษตรฯ จงใจที่จะทำให้เรื่องเยียวยา ล่าช้า ทำให้เกษตรกรชาวสวนลำไยเสียโอกาสไม่มีเงินที่จะลงทุนในปีต่อไป หรือเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือไม่ โดยใช้ความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไย ไปเป็นเครื่องมือ” จ.ส.อ.นิกร กล่าว
////////////////////////////