CEA แถลงคิกออฟ Bangkok Design Week 2023 เตรียมเช็คอิน 9 วัน 9 ย่าน ศก.สร้างสรรค์ 4 – 12 ก.พ. นี้
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ชวนสัมผัสมหกรรมไอเดียสร้างสรรค์ระดับโลก ภายใต้เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 (BKKDW2023) ตลอดทั้ง 9 วัน 9 ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้ธีม “urban‘NICE’zation เมือง – มิตร – ดี” หนุนการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและพลิกฟื้นบรรยากาศของเมืองให้สามารถโอบรับ “มิตรที่ดี” ทุกมิติได้อย่างลงตัวทั้งสิ่งแวดล้อม การเดินทาง วัฒนธรรม ธุรกิจ ชุมชน และทุกความหลากหลาย พร้อมขยายพื้นที่ย่าน ศก. สร้างสรรค์สู่ 5 ย่านใหม่ ต้อนรับการเปิดเมือง ปี 66 คาดนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 100,000 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ตลอดการจัดเทศกาลฯ
วันที่ 23 มกราคม 2566 : ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ตัวแทนเขตผู้ร่วมจัดเทศกาลฯ, ภาคีเครือข่ายผู้ขับเคลื่อน ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และคณะผู้บริหาร CEA ร่วมแถลงข่าว “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11.00 น.- 22.00 น. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่กรุงเทพฯ
ในธีมหลัก “urban ‘NICE’ zation หรือ เมือง – มิตร – ดี” ที่มีโจทย์หลักการออกแบบสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ฟื้นเมืองกรุงเทพฯให้ ‘น่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว’ อีกครั้ง เน้นการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมโดยมี ‘คน’ เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สามารถพัฒนาบนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลง รับมือกับความท้าทายใหม่ได้ตลอดเวลา โดยพื้นที่เทศกาลจะอยู่ใน 9 ย่านหลัก ได้แก่ 1) ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย, 2) เยาวราช, 3) สามย่าน – สยาม, 4) อารีย์ – ประดิพัทธ์, 5) พระนคร / ปากคลองตลาด / นางเลิ้ง, 6) วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู / คลองสาน, 7) บางโพ, 8) พร้อมพงษ์ และ 9) เกษตรฯ
ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า เทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2566 จะเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดระบบนิเวศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งสร้างโอกาสและรายได้ทางธุรกิจ ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่าย รวมทั้งกระตุ้นย่านและผลักดันเมืองสร้างสรรค์กรุงเทพฯ โดยได้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 นำเสนอโจทย์หลักของการออกแบบและความสร้างสรรค์ ที่จะช่วย ‘ทำเมืองให้เป็นมิตรที่ดี’ ยิ่งขึ้น ผ่าน 6 มิติ ได้แก่ เป็นมิตรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรที่ดีต่อคนเดินทาง เป็นมิตรที่ดีต่อวัฒนธรรม เป็นมิตรที่ดีต่อธุรกิจ เป็นมิตรที่ดีต่อชุมชน และเป็นมิตรที่ดีต่อทุกความหลากหลาย ในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 9 ย่าน ผ่านกิจกรรมกว่า 530 กิจกรรมใน 4 รูปแบบหลัก ได้แก่
1. Showcase & Exhibition แสดงผลงานจากนักสร้างสรรค์ นำเสนอแนวคิดเพื่อการแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิต
2. Talk & Workshop กิจกรรมบรรยาย และเวิร์กช้อป เพื่อให้ความรู้และแนวคิดใหม่จากนักสร้างสรรค์ ผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ
3. Creative Market & Promotion เปิดตลาดนัดสร้างสรรค์ 6 ตลาดทั่วกรุงเทพฯ กว่า 80 แบรนด์ดีไซน์ และ
4. Event & Program กิจกรรมสร้างบรรยากาศ และความเคลื่อนไหวกับเมืองในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การแสดงดนตรี การฉายภาพยนตร์ ศิลปะการแสดง ตลอดจนการจัดเทคนิคแสงสี บนสถาปัตยกรรม รวมถึงการเปิดบ้านของคนในย่าน (Open House)
คาดว่ากิจกรรมทั้งหมดนี้ จะช่วยปลุกบรรยากาศแห่งความสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นความคิดของคนเมือง พัฒนากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน
“การพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขณะนี้หลายแห่ง สามารถเป็นย่านที่มีการเจริญเติบโตสูงมาก มีธุรกิจเกิดขึ้นตลอดเวลาแม้แต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มีธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ อาทิ ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย ซึ่งการจัดเทศกาลตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เกิดจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าชมงานกว่า 1.75 ล้านคน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างการจัดงานมากกว่า 1,368 ล้านบาท ครั้งนี้ มีย่านเข้าร่วมเพิ่มขึ้นจากเดิม เคยจัด 5 ย่าน เป็น 9 ย่าน เชื่อว่าปีนี้ จะเป็นอีกปี ที่ประสบความสำเร็จ ช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสร้างต้นแบบการพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ ต่อไป” นายชาคริตฯ กล่าว
ด้าน นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากนโยบายสร้างสรรค์ดีของกรุงเทพมหานคร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจัดงาน 12 เทศกาลตลอดทั้งปี เพื่อดึงศักยภาพของย่านต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯนั้น “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566” ที่จะจัดในเดือนกุมภาพันธ์ จะอยู่ภายใต้เดือนแห่งการออกแบบ “ออกแบบดี กรุงเทพฯ ดี” ของ กทม. เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ที่ใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่มีกระบวนการตั้งแต่การศึกษา การพัฒนาต้นแบบ การทดสอบ และที่สำคัญคือการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทดสอบต้นแบบเพื่อปรับปรุง และกรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยนักออกแบบ จากการได้รับคัดเลือกให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative City Network) สาขาด้านการออกแบบ (Bangkok City of Design) เมื่อปี 2562
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน