กตป.ผนึก สทช.-ธรรมศาสตร์ เปิดเวทีรับฟังความเห็นคนกรุง เตรียมยื่นข้อสรุปต่อรัฐสภา เร่งพัฒนา กสทช. เพื่อประโยชน์ประชาชน
วันที่ 19 ธันวาคม 2565 ที่ ห้องแกรนด์บอลล์รูม ชั้น 3 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ กรุงเทพฯ : ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เปิดเผยว่า (กตป.) ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) การติดตามและประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ (กสทช.) สำนักงาน (กสทช.) และเลขาธิการ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานราชการ สื่อมวลชน บุคลากรจากสถาบันการศึกษา เจ้าหน้าที่และบุคลากรด้านสาธารณสุข ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ผู้นำชุมชน รวมทั้งเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น
โดยการประชุมแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกจะเป็นการนำเสนอผลสรุปการติดตาม ประจำปี 2565 จากทั่วทุกภูมิภาค อาทิ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร และช่วงที่ 2 จะเป็นการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) โดยจัดรูปแบบกลุ่มย่อย และระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม ด้านกระบวนการดำเนินงาน ผลลัพธ์ ผลกระทบเชิงบวก/เชิงลบจากการเข้าร่วมโครงการ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการทำงานของ (กสทช.) ต่อไป
โดยขั้นตอนสุดท้าย (กตป.) จะนำผลสรุปไปวิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาต่อไปตามหน้าที่และอำนาจในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 71-73
สำหรับข้อสรุปการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ที่ได้ดำเนินการมาแล้ว 4 ภูมิภาค ประกอบด้วยภาคเหนือ จังหวัดพะเยา, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น, ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี, ภาคใต้ จังหวัดปัตตานี และการจัดประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) มีข้อสรุป 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure พบปัญหาความคมชัดของสัญญาณภาพและเสียง การรับสัญญาณ การจัดการปัญหาของอุปกรณ์ หรือ Set top Box ที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างทั้งระบบ
2. Content หรือ เนื้อหา จากการสะท้อน พบว่า รายการประเภทข่าว มีเนื้อหาการเสนอข่าวสารที่สะท้อนภาพความรุนแรง และมีความซ้ำซาก การนำเสนอข่าวสารที่ใส่ความคิดเห็น และการใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอให้มีรายการสารคดี รายการเด็ก ในช่วงเวลาที่เหมาะสม การปรับมาตรฐานในการจัดการเรทติ้งให้มีความเหมาะสม ส่งเสริมให้เกิดเนื้อหารายการ เชิง Edutainment รายการสาระบันเทิงที่เพิ่มมากขึ้น
3. ด้านการโฆษณา พบว่ารายการทางโทรทัศน์มีเนื้อหารายการที่เป็นการโฆษณาเกินจริง และการได้รับสินค้าที่ไม่มีมาตรฐาน จึงเสนอให้เพิ่มบทบาทของ (กสทช.) ในด้านการกำกับดูแลมาตรฐานการจัดการโฆษณาแฝงในรูปแบบรายการที่ยังไม่มีการควบคุม อย่างจริงจัง ซึ่งการจัดการควรมีมาตรฐานเดียวกันและการควบคุมที่มีบทลงโทษอย่างจริงจัง
4. ด้านการร้องเรียน พบว่าประชาชน ส่วนใหญ่ยังรับทราบช่องทางการร้องเรียนที่สามารถเข้าถึง (กสทช.) น้อย นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้มีการจัดตั้งอาสาสมัครเป็นเป็นการเฝ้าระวัง และการติดตามในชุมชน เพื่อให้เป็นการเฝ้าระวังกันเอง ซึ่ง (กสทช.) ควรมีการประชาชสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการรับรู้รับทราบช่องทางต่างๆ และ
5. ด้านการจัดการ และ ด้านอื่นๆ ในปัจจุบันการประชาชนมีการรับชมโทรทัศน์ลดน้อยลง ซึ่งจากการเปิดรับฟังความเห็นทั้ง 5 พื้นที่ มีข้อเสนอให้ (กสทช.) ควรมีการปรับบทบาทในการกำกับและดูแล การจัดการเนื้อหาในส่วนของออนไลน์ การจัดทำแผนแม่บทในเชิงนโยบายที่ยังมีความไม่ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงรายการในรูปแบบออนไลน์ รวมถึงการสร้างมาตรฐานความเท่าเทียม ทั้งการจัดทำรายการและเนื้อหา เพื่อให้ครอบคลุมในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ อีกทั้งการพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบเพื่อให้เหมาะสม
ดร.จินตนันท์ฯ กล่าวอีกว่า จากการรวบรวมความเห็นทั้งหมดนี้ ในขั้นตอนต่อไปคือการจัดทำรายงานเพื่อนำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อให้เกิดการปรับปรุงการดำเนินงานของ (กสทช.) ต่อไป โดยมีสรุปเป็นประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้
1. ด้านบริบท (Context) ความเปลี่ยนแปลงบริบททางสังคมได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ (กสทช.) และ ผู้ประกอบกิจการสื่อ กล่าวคือในปัจจุบันคนดูรายการต่างๆ ผ่านโทรทัศน์น้อยลง ชมผ่านออนไลน์มากขึ้น เพราะสะดวก ทำให้ผู้ประกอบกิจการสื่อต้องปรับรูปแบบให้เร้าอารมณ์เพื่อจูงใจ และ เกินความเหมาะสม ไปถึงการละเมิดจริยธรรมทางวิชาชีพส่งผลต่อการกำกับดูแลของ (กสทช.) อีกทั้งประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลของ (กสทช.) หลังจากมอบใบอนุญาตให้ภาคเอกชน เพราะจากการรับชมรายการโทรทัศน์ในปัจจุบันส่วนใหญ่ จะมีการนำเสนอทั้งภาพ เสียง และพฤติกรรมที่สร้างความรุนแรงหลายรายการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ สะท้อนให้เห็นถึงการไม่เอาจริงเอาจังของหน่วยงานกำกับดูแล กฎระเบียบที่ไม่เข้มงวด หรือการขาดความตระหนักและให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่สื่อที่มีคุณภาพ
2. ด้านทรัพยากร/นโยบาย (Input) (กสทช.) มีงบประมาณเป็นจำนวนมาก จึงเสนอว่าให้นำมาช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการที่ผลิตเนื้อหาสำหรับผู้พิการ โดยที่ผ่านมาสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ซึ่งเคยเสนอแนะ (กสทช.) ไปแล้ว แต่ (กสทช.) ไม่ได้ดำเนินการ ด้วยเหตุผลที่ว่า การดำเนินงานดังกล่าว ไม่ใช่ภารกิจของ (กสทช.)
3. ด้านกระบวนการ (Process) สำหรับกระบวนการในการร้องเรียน แม้จะเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ผ่านช่องทางการให้บริการต่างๆ ทั้งทางโทรศัพท์ ออนไลน์ หรือเข้ามาติดต่อที่สำนักงานประจำพื้นที่ แต่สิ่งที่ยังควรต้องปรับปรุง คือ การแก้ไขปัญหายังล่าช้า และยังขาดการสื่อสารเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบถึงสถานะการดำเนินงาน ส่งผลให้ประชาชนเข้าใจว่า กสทช. ทำงานช้า หรือไม่ได้สนใจติดตามผลการดำเนินงาน ที่สำคัญประชาชนทั่วไปยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมกับ (กสทช.) โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่พื้นที่ห่างไกล อาทิ ในเขตชนบท หรือ พื้นที่ห่างไกลความเจริญ
4. ด้านผลผลิต (Product) มีประชาชนบางรายที่ยังไม่แน่ใจว่า คำว่ากิจการโทรทัศน์นั้น หมายถึง กิจการโทรทัศน์ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งประกอบด้วย กิจการทีวีดิจิตอล กิจการดาวเทียม กิจการเคเบิ้ลทีวี และกิจการเกี่ยวกับอื่นๆ ที่เป็นแบบทันสมัย ใช่หรือไม่ เพราะโดยส่วนใหญ่กิจกรรมต่างๆ ที่ กสทช. จัดขึ้นนั้น จะมุ่งเน้นไปยังกิจการทีวีดิจิตอลเท่านั้น อีกทั้งผู้ประกอบกิจการสื่อมองว่า กสทช. มีหน้าที่ในการ “กำกับ” และ “ดูแล” แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่า (กสทช.) จะมุ่งเน้นการกำกับเพียงอย่างเดียว มีทัศนคติที่มองผู้ประกอบกิจการสื่อเป็นผู้ร้าย โดยจะเห็นได้ว่า กฎ ระเบียบต่างๆ ที่ออกมาจะเป็นไปในทางบีบบังคับ กีดกัน หรือกีดขวางไม่ให้ผู้ประกอบกิจการสื่อมีอิสระในการประกอบธุรกิจ ทั้งๆ ที่โครงสร้างการให้บริการต่างๆ ผู้ประกอบกิจการสื่อเป็นผู้ลงทุนเอง แต่กับต้องถูกบีบบังคับด้วยกฎ ระเบียบที่ (กสทช.) ออกแบบ ทำให้ผู้ประกอบกิจการสื่อต้องดำเนินธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาได้ เช่น การจัดระดับหมวดหมู่ช่องรายการ ลำดับกิจการโทรทัศน์ จะเห็นได้ว่า กสทช. ตั้งกฎระเบียบมาว่าจะต้องมีหมวดหมู่ในการจัดลำดับโทรทัศน์ เพียงแค่ 6 หมวดหมู่ ไม่สามารถทำอย่างอื่นนอกเหนือจากนี้ได้ สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินธุรกิจไม่มีความเสรี
5. ด้านผลกระทบ (Impact) ในภาพรวมประชาชนได้ประโยชน์จากการขยายโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น แต่มีข้อเสนอแนะ คือ อยากให้ (กสทช.) สนับสนุนรายการโทรทัศน์สำหรับผู้พิการให้มากขึ้น และขยายผลการดำเนินงานให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทุกกลุ่ม เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะและประชาชนทั้งประเทศ เนื่องจากการผลิตและนำเสนอเนื้อหารายการโทรทัศน์ที่ไม่มีคุณภาพ และขาดความสร้างสรรค์ ส่งผลทำให้ผู้ชมหันไปรับชมรายการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป จะทำให้มีจำนวนผู้ชมที่รับชมรายการโทรทัศน์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสื่อออนไลน์เองก็ได้มีการพัฒนาทั้งในส่วนของแพลตฟอร์ม (Platform) และเนื้อหา (Content) ที่แปลกใหม่อยู่เสมอ จึงสามารถช่วยสร้างแรงจูงใจในการติดตามรับชมได้เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแล้ว หากมองในภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย จะทำให้การเติบโตมีแนวโน้มลดลง ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานที่ลดลงตามลำดับ ข้อสำคัญอีกประการ คือ พิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการมีสถานะเป็นหนึ่งในผู้นำทางความคิด (Opinion Leader) ของประชาชน ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลข่าวสารใดๆ ย่อมส่งผลต่อทัศนคติ พฤติกรรม และการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน โดยหากผู้ดำเนินรายการมีการนำเสนอข่าวการเมืองแบบเลือกข้าง ย่อมส่งผลทำให้ประชาชนที่ขาดทักษะการรู้เท่าทันสื่อตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองอันจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ในอนาคต
ดร.จินตนันท์ฯ กล่าวว่า การดำเนินงานของ (กสทช.) มุ่งดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อย่างทั่วถึงเป็นธรรม รวมถึงท้องถิ่นทุรกันดารของประเทศไทยมีสิทธิในการรับบริการด้านการสื่อสาร ขั้นพื้นฐานและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต ทำมาหากิน ทำธุรกิจและพัฒนาเศรษฐกิจของชาติในภาพรวม ดังนั้นในฐานะที่คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) เป็นคณะกรรมการที่ได้รับการเลือกตั้งจากวุฒิสภาเพื่อทำหน้าที่แทนประชาชนในการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล การทำงานของ (กสทช.) สำนักงาน (กสทช.) และเลขาธิการ (กสทช.) การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จึงมีส่วนสำคัญในการเสนอแนะให้ (กสทช.) มีการปรับบทบาทให้ทันต่อยุคสมัย ต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การพัฒนาเครื่องมือ กฎหมายให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการจัดสรรงบประมาณที่มุ่งเน้นต่อเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนเป็นสำคัญเพื่อให้เกิดการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน