“สมศักดิ์” เป็นประธานมอบเงินเยียวยากราดยิงหนองบัว จ่ายเพิ่ม 36 ผู้เสียชีวิต – ผู้บาดเจ็บ 12 ราย รวมยอดทั้งหมด 7.5 ล้านบาท ขอทุกคนเชื่อมั่น ลั่นไม่เคยทิ้งประชาชน เผยนายกฯ อบจ. เตรียมรับสามีครูพรเข้าทำงานให้เรียนเพิ่มวุฒิอีกนิด
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2565 ที่ อบต.อุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นประธานในการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยา เหตุกราดยิง จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมี นายอนุพงศ์ คำภูแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู นายอนุชา พัสถาน ปลัดจังหวัดหนองบัวลำภู พล.ต.ต.พงพิพัฒน์ ศิริพรวิวัฒน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองบัวลำภู นายวุฒิพงษ์ ศิริสถิตย์ นายก อบจ.หนองบัวลำภู น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้เสียหายจากเหตุกราดยิง 48 ราย ผู้นำชุมชนและชาวบ้าน 150 คนร่วมงาน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงใยในเรื่องนี้ ปกติการจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตที่ตกเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา จะได้รายละ 110,000 บาท ประกอบด้วย ค่าตอบแทนการตาย 50,000 บาท ค่าทำศพ 20,000 บาท ค่าขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู 40,000 บาท แต่จากเหตุการณ์สะเทือนใจที่เกิดขึ้นนี้ กรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้จ่ายเยียวยาเพิ่มให้อีกรายละ 90,000 บาท ประกอบด้วย ค่าตอบแทนการตาย 50,000 บาท และค่าเสียหายอื่น ๆ 40,000 บาท นอกจากนี้คณะกรรมการพิจารณาเงินเยียวยา ได้นำเบี้ยประชุมและเงินบริจาครวม 172,850 บาท สมทบให้แก่ครู 2 รายและประชาชน 1 ราย ในฐานะพลเมืองดี ที่ช่วยเหลือเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและตะโกนให้คนร้ายเบี่ยงเบนไม่ไปทำร้ายผู้บริสุทธิ์ จนตนเองเสียชีวิต และวันนี้ยังมีการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้บาดเจ็บในเบื้องต้น 12 ราย เป็นเงิน 373,724 บาท ยอดรวมของเงินเยียวยาตามกฎหมาย ทั้งหมด 2 ครั้ง รวม 7,573,724 บาท
“ในส่วนของ นายเสกสรรค์ ศรีราชา สามีครูพร ซึ่งก่อนหน้านี้ผมได้หารือกับ กระทรวงศึกษาธิการแล้ว ในการหาทางบรรจุเป็นครู แต่ติดที่นายเสกสรรค์ ไม่มีวุฒิการศึกษา โดยผมได้พูดคุยกับ นายวุฒิพงษ์ ศิริสถิตย์ นายก อบจ.หนองบัวลำภู ท่านได้รับดำเนินการช่วยเหลือ และรับปาก ให้นายเสกสรรค์ไปเรียนเพิ่มอีกนิด เมื่อวุฒิการศึกษาพร้อม จะบรรจุพนักงานของ อบจ. ได้ ในส่วนของผู้ที่ยังต้องรักษาร่างกาย เจ้าหน้าที่จากกรมคุ้มครองสิทธิฯจะยังดูแล และจะจ่ายเงินค่ารักษาเพิ่มให้ ไม่ต้องกังวล ผมขอเป็นกำลังใจให้ชาวอุทัยสวรรค์ทุกท่าน ขอให้ท่านมั่นใจในกระทรวงยุติธรรม เราจะไม่ทอดทิ้งประชาชน” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรม ยังมีกองทุนยุติธรรม ให้การช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี โดยการจัดหาทนาย การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิด การสนับสนุนให้ความรู้ทางกฎหมาย โดยให้การช่วยเหลือฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถติดต่อได้ที่กระทรวงยุติธรรม สำนักงานยุติธรรมจังหวัด สายด่วน 1111 กด 77 และยังมี พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง (JSOC) เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมและสร้างความปลอดภัยให้สังคม โดยเฉพาะเด็กและสตรี แก้ปัญหาและลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำ โดยใช้กำไล EM ติดตาม มีศูนย์ JSOC และอาสาสมัครคุมประพฤติ ควบคุมเฝ้าดู และเรายังได้จัดทำประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ เน้นยึดทรัพย์ตัดวงจร ซึ่งตนขอเชิญชวนทุกท่านแจ้งเบาะแส รับรางวัล 5% โดยสามารถโทรสายด่วน 1386 แต่หากใครยังกังวัล เรากำลังทำระบบ Block Chain เพื่อปกปิดผู้แจ้งเบาะแสให้ปลอดภัย 100% คาดว่าเดือนหน้าจะใช้งานได้
สำหรับเหตุกราดยิงหนองบัวลำภูเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีการจ่ายเงินเยียวยา
ครั้งที่ 1 วันที่ 9 ต.ค. 65 ให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต 36 ราย รวมเป็นเงิน 3,960,000 บาท รายละ 110,000 บาท ประกอบด้วย ค่าตอบแทนการตาย 50,000 บาทค่าทำศพ 20,000 บาท ค่าขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู 40,000 บาท สำหรับการจ่ายเงินเยียวยา
ครั้งที่ 2 ให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ 48 ราย เป็นเงิน 3,786,574 บาท แบ่งเป็น ผู้เสียชีวิต 36 ราย ได้เพิ่มรายละ 90,000 บาท เป็นเงิน 3,240,000 บาท ประกอบด้วย ค่าตอบแทนการตาย 50,000 บาท ค่าเสียหายอื่นๆ 40,000 บาท คณะกรรมการฯ นำเบี้ยประชุม จำนวน 172,850 บาท สมทบให้แก่ครู 2 รายและประชาชน 1 ราย ที่เป็นพลเมืองดี ช่วยเหลือเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและประชาชนผู้บริสุทธิ์ จนตนเองเสียชีวิต และจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้บาดเจ็บ จำนวน 12 ราย เป็นเงิน 373,724 บาท ยอดรวมของเงินเยียวยา ทั้งหมด 2 ครั้ง ทั้งตามกฎหมายและเงินบริจาค รวม 7,746,574 บาท
โดย พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย แบบค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้การช่วยบุคคล 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเหยื่อหรือผู้เสียหายในคดีอาญา ที่ได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกายหรือจิตใจ จากการกระทำผิดทางอาญา โดยตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และกลุ่มแพะหรือจำเลยในคดีอาญา ที่ศาลสุดท้ายตัดสินยกฟ้องว่ามิได้เป็นผู้กระทำผิดที่รัฐเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ในการอำนวยความยุติธรรม
/////