นายกรัฐมนตรี ยกทัพอุตสาหกรรมแฟร์ ดันผลงานพลิกเศรษฐกิจฐานรากยั่งยืน คาดบูมเศรษฐกิจมากกว่า 500 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 นนทบุรี – กระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานใหญ่แห่งปี อุตสาหกรรมแฟร์ ภายใต้แนวคิด “ซื้อของไทย ใช้ของดี สร้างอาชีพ เสริมธุรกิจที่ดีพร้อม” เพื่อต่อยอดผลสำเร็จของโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม ด้านการเสริมทักษะในการประกอบธุรกิจ ให้สามารถพึ่งพาตัวเองและมีอาชีพใหม่ พร้อมทั้งระดมสุดยอดผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมกว่า 1,200 ราย นำสินค้าดี มีคุณภาพ ราคาถูก เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ตลอดจนการเปิดตลาดไอเดียสำหรับประชาชนเพื่อหาแรงบันดาลใจในการสร้างธุรกิจที่มั่นคง ระหว่างวันที่ 1–4 ธันวาคม 2565 ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 9 – 12 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท โดยได้รับเกียรติจาก นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะวิกฤติ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือเยียวยาและการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกด้านอย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาผลกระทบและเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้เศรษฐกิจสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยเฉพาะการสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจฐานรากที่จะเป็นส่วนสำคัญ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ด้วยการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนา “คน” ที่เป็นประชาชนในระดับท้องถิ่น และชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานและกลไกสำคัญของการพัฒนาประเทศ ด้วยการเสริมทักษะและฝึกอาชีพแก่ประชาชนให้สามารถพึ่งพาตัวเองและมีรายได้ มีอาชีพใหม่ อันจะก่อให้เกิดความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
สำหรับการจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ “ซื้อของไทย ใช้ของดี สร้างอาชีพ เสริมธุรกิจที่ดีพร้อม” ในวันนี้ ถือเป็นการจัดงานครั้งใหญ่ในรอบหลายปี ซึ่งเป็นการต่อยอดและขยายผลโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ขณะเดียวกัน ยังถือเป็นการสะท้อนภาพความสำเร็จของการนำนโยบายสำคัญของรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ที่ทำให้ประชาชนมีความรู้และทักษะใหม่ในการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่และภูมิปัญญาของคนในชุมชนที่สามารถนำไปต่อยอดได้จริง ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งได้จากภายใน สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนและเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมถึงช่วยผลักดันให้ภาคเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ สภาวะปกติต่อไปได้
ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา “ชุมชนดีพร้อม” และการพัฒนา “คน” ที่เป็นประชาชนในระดับท้องถิ่นและชุมชน ผ่าน “กลไก 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม” ได้แก่ แผนชุมชนดีพร้อม คนชุมชนดีพร้อม แบรนด์ชุมชนดีพร้อม ผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม เครื่องจักรชุมชนดีพร้อม ตลาดชุมชนดีพร้อม และเงินทุนหมุนเวียนดีพร้อม ซึ่งหนึ่งในกลไกข้างต้น กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่า “คน” เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในก้าวแรกที่จะพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยการเสริมทักษะและฝึกอาชีพแก่ประชาชนในรูปแบบการฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองและมีรายได้ มีอาชีพใหม่
ผ่านโครงการ “พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม” โดยที่ผ่านมาสามารถพัฒนาทักษะอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมายไปแล้วกว่า 600,000 คน ในกว่า 2,100 พื้นที่ และกำลังดำเนินการเพิ่มเติมให้ครอบคลุม
ทั่วประเทศ นอกจากนั้น อีกหนึ่งกลไกที่มีความสำคัญ คือ การพัฒนาตลาดชุมชนดีพร้อมให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งในการพัฒนา “ตลาดชุมชนดีพร้อม” กระทรวงอุตสาหกรรม จึงเลือกที่จะใช้งานอุตสาหกรรมแฟร์ “ซื้อของไทย ใช้ของดี สร้างอาชีพ เสริมธุรกิจที่ดีพร้อม” เป็นเครื่องมือทางการตลาดให้กับชุมชน ระหว่างวันที่ 1-4 ธันวาคม 2565 ณ เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 9-12 อิมแพ็คเมืองทองธานี
สำหรับภายในงาน แบ่งออกเป็นโซนต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่
1.โซนนิทรรศการ โดยมีการจัดแสดงต้นแบบชุมชนดีพร้อม เทคโนโลยีและนวัตกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การยกระดับเกษตรอุตสาหกรรมและโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) การส่งเสริมและพัฒนา Startup ผ่านกลไก ดีพร้อมฮีโร่ รวมถึงการเขียนโค้ดโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ด้วยภาพที่เหมาะสำหรับการเรียนการสอนของเด็ก การแสดงเครื่องจักรเกษตรอุตสาหกรรม การใช้อุปกรณ์ VR เพื่อการเรียนรู้ระบบลำเลียงสินค้า Karakuri และการจัดแสดงผลงานจากหน่วยงานภาคี
2.โซนฝึกอาชีพ โดยจะมีการจัดฝึกอาชีพในด้านต่างๆ ตลอดทั้ง 4 วัน อาทิ การทำอาหาร ออกแบบผลิตภัณฑ์
3.โซนปรึกษาแนะนำ การดำเนินธุรกิจในด้านต่าง ๆ และการบริการด้านการเงิน และ
4.โซนจำหน่ายสินค้า กว่า 1,200 ร้านค้า ที่ได้คัดสรรสินค้าดี มีคุณภาพ นำมาจำหน่ายในราคาถูก เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย สมุนไพร ของใช้ ของตกแต่งบ้าน และ Food Truck นอกจากจะเป็นพื้นที่สำหรับการเลือกซื้อสินค้าแล้ว ยังมีการจัดสัมมนาถ่ายทอดองค์ความรู้และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งเป็นการเปิดตลาดไอเดียสำหรับประชาชนที่ผ่านการฝึกทักษะอาชีพดีพร้อมที่จะเข้ามาเดินชมงานเพื่อหาแรงบันดาลใจในการสร้างธุรกิจที่มั่นคงเป็นของตนเอง ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นเวทีแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการไทย และยังเป็นการฉายแววผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ในชุมชนที่มีความโดดเด่นอีกด้วย โดยคาดว่าตลอดการจัดงานทั้ง 4 วัน จะมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 200,000 คน และมีเงินสะพัดภายในงานไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน