ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

วัชระส่งหลักฐานเด็ดให้ศาลทุจริตฯ มัดแน่น “สรศักดิ์-ชัชวาล” ไม่ส่งเอกสารตามหมายเรียก


26 พฤศจิกายน 2022, 18:11 น.

 

วัชระส่งหลักฐานเด็ดให้ศาลทุจริตฯ มัดแน่น “สรศักดิ์-ชัชวาล” ไม่ส่งเอกสารตามหมายเรียก

 

เมื่อวันที่ 25 พ.ย.65 : นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ที่ห้อง 403 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้สืบพยานโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ 22,23/2563 คดีอาญาหมายเลขคดีแดงที่ 33,34/2563 ระหว่างนายวัชระ เพชรทอง โจทก์ นายสรศักดิ์ เพียรเวช จำเลยที่ 1, นายชัชวาล อภิบาลศรี จำเลยที่ 2

นายวัชระ เพชรทอง โจทก์ ฟ้องนายสรศักดิ์ เพียรเวช อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร จำเลยที่ 1, นายชัชวาล อภิบาลศรี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการเร่งรัดโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จำเลยที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.137,157 ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และขัดขืนหมายศาลให้ส่งเอกสารในการพิจารณาคดี

 

โดยนายวัชระ โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องว่า นายสรศักดิ์ฯ เป็นหัวหน้าส่วนราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการของสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ มีอำนาจสั่งการ อนุญาต และอนุมัติ และกระทำการแทนสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และยังได้รับการแต่งตั้งจากประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เป็นคณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองเอกสารและได้รับหมายเรียกพยานเอกสารของศาลอาญา คดีอาญาหมายเลขดีที่ อ.838/2561 ระหว่างนายชัชวาล อภิบาลศรี โจทก์ และนายวัชระ เพชรทอง จำเลย ให้เร่งรัดส่งเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยไปยังศาลอาญา เพื่อใช้ในการพิจารณาคดี

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 แต่นายสรศักดิ์ฯ ได้บังอาจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา โดยมีหนังสือแจ้งว่า ไม่สามารถจัดส่งให้ได้ เนื่องจากไม่มีแถบบันทึกเสียงการประชุมของคณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 ถือว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เพราะความจริงแล้วในการประชุมของคณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ดังกล่าว ได้มีการบันทึกชวเลข แถบเสียง และบันทึกการประชุม โดยมีรายละเอียดผู้เข้าประชุม ผู้ไม่ได้เข้าประชุม วันเดือนปี ครั้งที่และข้อความที่ประชุม ซึ่งเป็นเอกสารราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 จำเลยซึ่งเป็นกรรมการและผู้เข้าร่วมการประชุม เป็นผู้ครอบครองเอกสารดังกล่าว และทราบดีว่าต้องมีการบันทึกชวเลข แถบเสียง หรือรายงานชวเลข และบันทึกการประชุมไว้และต้องเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามกฎหมาย แต่กลับแจ้งความเท็จว่าไม่มีการบันทึกการประชุม เพื่อเป็นเหตุไม่ต้องส่งเอกสารดังกล่าวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ตามหมายเรียกพยานเอกสารข้างต้น

 

ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือนายชัชวาล อภิบาลศรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และเพื่อมิให้นายวัชระ โจทก์ได้ใช้เอกสารดังกล่าว เป็นหลักฐานในการต่อสู้คดีในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.838/2561 ของศาลอาญาดังกล่าว ซึ่งมีนายชัชวาล อภิบาลศรี เป็นโจทก์ การกระทำของจำเลย เป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และเป็นการจงใจขัดขืนหมายหรือคำสั่งศาลให้ส่งทรัพย์หรือเอกสารในการพิจารณาคดี และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ผู้อื่นหรือประชาชน หรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
จากผลการตรวจสอบปรากฎว่า

 

1. สำนักรายงานการประชุมและชวเลข มีหน้าที่จดและจัดทำรายงานการประชุมคณะกรรมการฯ แต่ไม่มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้ข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากไม่ใช่เจ้าของข้อมูลที่แท้จริง

 

2. รายงานการประชุมของคณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เจ้าของข้อมูลที่แท้จริง คือ คณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ซึ่งเกี่ยวกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการฯ)

 

3. สำนักรายงานการประชุมและชวเลข ได้ส่งมอบรายงานการประชุมฯ ของวันพุธที่ 7 มีนาคม 2561 และไฟล์เสียง (ในรูปแบบซีดี) ให้กับนางสาวสิรินทร์ญาภา จันทพิรักษ์ ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่แล้ว เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563

 

โจทก์ชี้ช่องให้สืบพยานให้ศาลเห็นว่าจำเลยปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย

 

วันนี้สืบพยานโจทก์เสร็จจำนวน 2 ปากและอนุญาตให้โจทก์นำพยานบุคคลเข้าเบิกความจำนวนอีก 3 ปากในวันที่ 1  และ 14 กุมภาพันธ์ 2566

 

ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อหาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไม่เห็นพ้องด้วยบางส่วน และพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องเฉพาะในความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,157

 

อนึ่ง ฐานความผิด มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่1 ปี ถึง 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

เรื่องล่าสุด