ไฮไลท์

ปลัด มท.วางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 6 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต


26 พฤศจิกายน 2022, 0:16 น.

 

ปลัดกระทรวงมหาดไทยวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต 25 พฤศจิกายน 2565

วันนี้ (25 พ.ย. 65) เวลา 08.00 น. ณ พระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำผู้บริหารระดับสูง และข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย วางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต 25 พฤศจิกายน 2565

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือที่พสกนิกรชาวไทยจะขานพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2424 โดยทรงเสด็จเถลิงถวัลย์ครองสิริราชสมบัติ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 รวมพระชนมพรรษา 44 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวมระยะเวลา 15 ปี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ วรรณกรรมและอักษรศาสตร์ โดยทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้รวมกว่าพันเรื่อง โดยทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” อันหมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นปราชญ์ เป็นพระราชสมัญญาที่ ประชาชนทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ นอกจากนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันขึ้นแทนการสร้างวัดประจำรัชกาล เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในด้านการวางรากฐานระบบราชการไทย โดยทรงสถาปนา “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ เป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา กองเสือป่า ขึ้น โดยพระองค์เองเป็นผู้บัญชาการ เพื่อให้พลเรือนซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในราชสำนักได้มีโอกาสฝึกหัดระเบียบวินัย มีการบังคับบัญชาเป็นหมู่เหล่าเช่นเดียวกับทหาร เพื่อป้องกันภัยอันตรายที่จะมีแก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อีกทั้งมีพระราชดำริในด้านการสาธารณสุข โดยให้จัดสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ยังได้กล่าวต่ออีกว่า พระราชกรณียกิจที่สำคัญและเป็นการริเริ่มวางรากฐานด้านการเมืองการปกครองของประเทศจวบจนถึงปัจจุบัน คือ ทรงริเริ่มการปกครองในระบอบประชาธิปไตยขึ้น โดยทรงโปรดให้จัดตั้ง “ดุสิตธานี” ภายในบริเวณพระราชวังดุสิต ขึ้นในปี 2461 เพื่อเป็นแบบทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีลักษณะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเทศบาล ซึ่งภายในดุสิตธานี ได้มีการจำลองรูปแบบการปกครองและสิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่ราชการ อาคารบ้านเรือน อาทิ ที่ทำการรัฐบาล บ้านเรือนราษฎร พระราชวัง ศาสนสถาน สถานที่ราชการ โรงทหาร ร้านค้า โรงพยาบาล ตลาด โรงแรม ธนาคาร สถานประกอบธุรกิจต่าง ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างครบถ้วน และทรงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พุทธศักราช 2456 เพื่อช่วยกำหนดตัวบุคคลได้แน่นอนกว่าการเรียกชื่อเพียงอย่างเดียว เป็นต้น

“สำหรับ “สวนลุมพินี” เป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงเทพมหานครอันเป็นอนุสรณ์หวนรำลึกนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานไว้ โดยมีจุดเริ่มต้นในปี 2468 ในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 15 ปี ประกอบกับเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงทรงพระราชดำริให้จัดงานแสดงพิพิธภัณฑ์สรรพสินค้าและทรัพยากรธรรมชาติ เฉกเช่นประเทศตะวันตกที่ได้ทำได้ผลมาแล้ว โดยกำหนดจัดในฤดูหนาวปลายปี 2468 และมีพระราชประสงค์ว่า เมื่อเลิกการจัดงานแล้ว ให้จัดทำเป็นสวนพฤกษชาติ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาและใช้พักผ่อน โดยพระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนประเดิมในการเตรียมสถานที่ ซึ่งภายในมีการขุดสระกว้าง สร้างเกาะลอยกลางน้ำ ตัดถนน และสร้างถาวรวัตถุ เช่น หอนาฬิกา ตึกแบบกรีก และพระราชทานชื่อว่า “สวนลุมพินี” หมายถึง สถานที่ประสูติแห่งพระพุทธเจ้า ณ ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล แต่แล้วพระองค์ก็เสด็จสวรรคตก่อนกำหนดเปิดงาน จึงไม่ได้จัดงานดังกล่าว จนกระทั่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ทรงเป็นพระอนุชาธิราชเจ้า ทรงสานต่อการทำเป็นสวนสาธารณะจนแล้วเสร็จ และในปี 2485 ได้มีการจัดสร้างพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้น ณ สวนลุมพินีแห่งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้สักการะ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้พระราชทานกำเนิดสวนลุมพินี” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐที่ทรงมีคุณูปการอันเป็นรากฐานความมั่นคงของประเทศ ส่งผลให้เกิดความอยู่ดีมีสุขของพสกนิกรชาวไทยตราบจนถึงปัจจุบัน จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันตั้งจิตเป็นกุศล ประกอบคุณงามความดี เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาน้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต 25 พฤศจิกายน 2565 โดยพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ

กองสารนิเทศ สป.มท.
วันที่ 25 พ.ย. 2565

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดไฮไลท์

เรื่องล่าสุด