“รมช.พาณิชย์” เผยผลสำเร็จด้านเศรษฐกิจ เตรียมชงที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41
รมช.พาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม AEC Council ครั้งที่ 21 ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา ถกเข้มประเด็นด้านเศรษฐกิจ ชี้! อาเซียนเน้นย้ำเสริมสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาค เร่งรัดการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤต มุ่งเตรียมความพร้อมสู่อนาคต ทั้งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการพัฒนาที่ยั่งยืน เตรียมชงผลสำเร็จให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 21 ซึ่งเป็นการประชุมระดับรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา เพื่อหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจ และสรุปผลลัพธ์การดำเนินงานของเสาเศรษฐกิจ เตรียมเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 ในวันที่ 11-13 พ.ย.นี้
นายสินิตย์ กล่าวว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของอาเซียนเติบโตร้อยละ 3.4 และคาดการณ์ว่าในปีนี้จะขยายตัวถึงร้อยละ 5.1 และร้อยละ 5.0 ในปี 2566 ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 อย่างไรก็ดี ที่ประชุมเห็นว่าประเด็นความท้าทายด้านการเมืองระหว่างประเทศ ความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร จะส่งผลต่อความเชื่อมโยงในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก และการไหลเวียนเงินทุนมาสู่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงอาเซียนด้วย ดังนั้น อาเซียนจึงเน้นย้ำเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค เพื่อช่วยเร่งรัดการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตต่างๆ
“กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนได้ผลักดันการดำเนินการของอาเซียนภายใต้แนวคิดหลัก “อาเซียน เอ.ซี.ที : รับมือความท้าทายร่วมกัน (ASEAN A.C.T.: Addressing Challenging Together)” โดยมีความสำเร็จที่สำคัญในส่วนของเสาเศรษฐกิจ อาทิ การส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน แผนงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การประกาศการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยการแข่งขันของอาเซียน การประกาศการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน การสรุปผลการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผลสำเร็จของการดำเนินการดังกล่าวจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดช่องว่างการพัฒนา และทำให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้อาเซียนในการรองรับผลกระทบจากวิกฤต ซึ่งจะจัดทำรายงานผลลัพธ์จากการดำเนินการทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนด้วย” นายสินิตย์เสริม
นายสินิตย์ เพิ่มเติมว่า อาเซียนได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมสู่อนาคต โดยมีไฮไลท์ 2 เรื่องสำคัญ คือ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อเร่งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์อาเซียนในประเด็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) และแผนงานบันดาร์เสรีเบกาวัน ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับการจัดทำความตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ซึ่งจะสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มโอกาสทางการค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียน และช่วยลดต้นทุนที่เกิดจากการทำธุรกรรมและโลจิสติกส์ให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะเสนอให้ผู้นำรับรองเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ คือ แผนดำเนินงานตามกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ปี 2566-2573 ซึ่งเป็นแนวทางที่อาเซียนจะนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเอกสารแนวคิดเรื่องยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งมีเป้าหมายช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจของภูมิภาค เช่น ทำให้อาเซียนเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนด้านการปล่อยคาร์บอนต่ำ และช่วยส่งเสริมนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่า เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าในการจัดทำองค์ประกอบหลักของร่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ภายหลังปี 2568 (Post-2025 Vision) ในส่วนของเสาเศรษฐกิจ ซึ่งจะไปรวมเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ฯ ฉบับใหม่ ที่จะเสนอให้ผู้นำอาเซียนรับรองในปี 2568 ตลอดจนผลการประเมินเชิงลึกถึงความพร้อมของติมอร์-เลสเต เข้าร่วมเป็นสมาชิกของอาเซียน เพื่อเสนอต่อผู้นำอาเซียนต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 110,868.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเกินดุล 19,430.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 65,149.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 45,719.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วง 9 เดือน (ม.ค. – ก.ย. 2565) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 96,850.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 20 โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 55,997.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 40,853.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์
—————————————
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
13 พฤศจิกายน 2565