ข่าวประชาสัมพันธ์

วช. เปิดศูนย์วิจัยชุมชน “วิถีผักอินทรีย์ริมโขง อัตลักษณ์อาหารพื้นถิ่น มรดกวัฒนธรรม อ.ธาตุพนม” จ.นครพนม


19 ตุลาคม 2022, 12:26 น.

 

วช. เปิดศูนย์วิจัยชุมชน “วิถีผักอินทรีย์ริมโขง อัตลักษณ์อาหารพื้นถิ่น มรดกวัฒนธรรม อ.ธาตุพนม” ดินแดนแห่งประเพณีและความหลากหลายของวัฒนธรรม จ.นครพนม

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่จังหวัดนครพนม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดศูนย์วิจัยชุมชน “วิถีผักอินทรีย์ริมโขง อัตลักษณ์อาหารพื้นถิ่น มรดกวัฒนธรรม อำเภอธาตุพนม” และ นางจุฑามาศ ใจสบาย ผู้อำนวยการวิทยาลัยธาตุพนม ให้การต้อนรับพร้อมทั้งกล่าวรายงาน ณ วิทยาลัยธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ชุมชน โดยการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง และตรงกับความต้องการของชุมชน ไปใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการขนาดย่อม พัฒนาทักษะ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรผู้ใช้เทคโนโลยี รวมทั้งการสร้างบุคลากรในพื้นที่เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยากรและผู้ชำนาญการงานบริการวิชาการแก่ศูนย์วิจัยชุมชน ศูนย์วิจัยชุมชนจะทำงานร่วมกับพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งศูนย์วิจัยชุมชน มีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ (วช.) และ 4 เครือข่ายวิจัยภูมิภาค ได้เร่งขับเคลื่อนและขยายผลศูนย์วิจัยชุมชนให้ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาค โดยปัจจุบันได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชน ซึ่งแบ่งเป็น

(1) ภาคเหนือ : 28 ศูนย์

(2) ภาคกลาง : 9 ศูนย์

(3) ภาคใต้ : 10 ศูนย์ และ

(4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : 10 ศูนย์

 

นับเป็นการเปิดตัวศูนย์วิจัยชุมชนแห่งที่ 11 ซึ่งดำเนินการโดยเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งศูนย์วิจัยชุมชน “วิถีผักอินทรีย์ริมโขง อัตลักษณ์อาหารพื้นถิ่น มรดกวัฒนธรรม อำเภอธาตุพนม” จังหวัดนครพนม ตามที่ได้มีการรายงานเป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ทั้งวิถีการใช้ชีวิต อาหารพื้นถิ่น ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านมรดกด้านวัฒนธรรม วิถีผักอินทรีย์ริมโขง ที่มีการสืบทอดมาตั้งแต่อดีต พร้อมทั้งมีอัตลักษณ์อาหารพื้นถิ่นอาศัยภูมิปัญญาที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยนครพนมเป็นพื้นที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันและนำการวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการสนับสนุนและยกระดับเกษตรกรให้มีความอยู่ดีกินดี ได้แก่ การพัฒนาด้านเกษตรอินทรีย์
การพัฒนาผลิตภัณฑ์กบและลูกฮวก การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแกงสมุนไพร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอ เป็นต้น

 

ซึ่งการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนในครั้งนี้นับเป็นประโยชน์กับพื้นที่ให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน รวมทั้ง การสร้างบุคลากรในพื้นที่เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยากรและผู้ชำนาญการงานบริการวิชาการแก่ศูนย์วิจัยชุมชนควบคู่ไปกับการเรียนรู้ภูมิปัญญา วัฒนธรรม องค์ความรู้ที่จะให้คนทั่วไปได้มาเรียนรู้ในแบบการท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบสร้างสรรค์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะพัฒนาและเพิ่มรายได้ให้กับภาคเกษตรให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

นางจุฑามาศ ใจสบาย ผู้อำนวยการวิทยาลัยธาตุพนม กล่าวว่า จังหวัดนครพนม เป็นพื้นที่ที่อยู่บริเวณ ลุ่มแม่น้ำโขงแถบอีสานตอนบน ที่มีวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ทั้งวิถีการใช้ชีวิต อาหารพื้นถิ่น ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ซึ่งในอดีตเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ที่รุ่งเรืองมาก พรั่งพร้อมทั้งอารยธรรมมากมาย สถานที่สำคัญที่เป็นที่รู้จักของอำเภอธาตุพนมได้แก่ องค์พระธาตุพนม ที่บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้าไว้ ซึ่งเป็นที่สักการะของทั้งคนไทยและคนลาวมีประเพณีในการบวงสรวงพระธาตุพนมทุกปี นับเป็นโอกาสให้พี่น้องชาวไทยและลาวได้มาสักการะองค์พระธาตุพนม นอกจากนั้นพื้นที่อำเภอธาตุพนมยังเป็นพื้นที่ที่ติดริมแม่น้ำโขง มีการปลูกผักริมโขงมาตั้งแต่บรรพบุรุษที่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

 

ซึ่งมหาวิทยาลัยนครพนมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ต้อนรับคณะผู้บริหารสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และคณะกรรมการเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้ให้เกียรติในการเปิดศูนย์วิจัยชุมชน “วิถีผักอินทรีย์ริมโขง อัตลักษณ์อาหารพื้นถิ่น มรดกวัฒนธรรม อำเภอธาตุพนม” จังหวัดนครพนม ในครั้งนี้

สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดข่าวประชาสัมพันธ์

เรื่องล่าสุด