สังคม

รมว.พม. ย้ำความสุขของประชาชน คือ ความสำเร็จของ พม. พร้อมเดินหน้าสู่ปีที่ 21 เร่งพัฒนาคนทุกช่วงวัย


4 ตุลาคม 2022, 18:56 น.

 

รมว.พม. ย้ำความสุขของประชาชน คือ ความสำเร็จของ พม. พร้อมเดินหน้าสู่ปีที่ 21 เร่งพัฒนาคนทุกช่วงวัย

เมื่อวันที่ 3 ต.ค.65 เวลา 15.00 น. : นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีปิดงาน “20 ปี พม. เสริมพลัง สร้างโอกาส พัฒนาคนทุกช่วงวัย” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กันยายน ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2565 พร้อมทั้งแถลงทิศทางการดำเนินงานของกระทรวง พม. ก้าวสู่ปีที่ 21 โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวสรุปรายงานภาพรวมของการจัดงานฯ ทั้งนี้ มีคณะผู้บริหารกระทรวง (พม.) ผู้แทนภาคีเครือข่าย และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุม ชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ

 

นายจุติฯ กล่าวว่า ด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สถาปนาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 เพื่อเป็นหน่วยงานหลักด้านสังคมของภาครัฐในการขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งได้กำหนดจัดงาน “20 ปี พม. เสริมพลัง สร้างโอกาส พัฒนาคนทุกช่วงวัย” ระหว่างวันที่ 29 กันยายน ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2565 เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการขับเคลื่อนงานด้านสังคมในภาพรวมของประเทศสำหรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการนำเสนอพัฒนาการและผลงานของกระทรวง (พม.) ในมิติที่หลากหลาย รวมถึงเป็นโอกาสอันดีในการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 20 ปี

ทั้งนี้ สำหรับทิศทางการดำเนินงานของกระทรวง (พม.) ก้าวเข้าสู่ปีที่ 21 จะมุ่งเน้นการเสริมพลัง สร้างโอกาส พัฒนาคนทุกช่วงวัย ซึ่งประกอบด้วย

1) การพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางแบบองค์รวมใน 5 มิติ ทั้งด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการรัฐ

 

2) ส่งเสริมให้มี (อพม.) จำนวน 500,000 คน ภายในปี 2566

 

3) ส่งเสริมการทำงานแบบหุ้นส่วนกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

4) ส่งเสริมและยกระดับอาชีพ รายได้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมายให้มีความเป็นมืออาชีพ มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น บัตเลอร์ (Butler) เชฟอาหารไทย พี่เลี้ยงเด็ก และผู้ดูแล (Care giver) เป็นต้น

 

5) ยกระดับชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Smart Sustainable Community)

 

6) ส่งเสริมการเข้าถึงหลักประกันทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ

 

7) ปฏิรูปการขึ้นทะเบียนคนพิการ และ

 

8) ส่งเสริมความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท

 

นอกจากนี้ กระทรวง (พม.) จะต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้องค์กรมีความทันสมัย รวมถึงพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงบทบาท ภารกิจ และผลงานที่สำคัญของกระทรวง (พม.) และที่สำคัญ บุคลากรของกระทรวง (พม.) จะต้องได้รับการพัฒนายกระดับให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานตามเป้าหมาย คือ “ความสุขของประชาชน คือ ความสำเร็จของ พม.”

นายจุติฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการก้าวสู่ปีที่ 21 และปีต่อๆ ไป ของกระทรวง (พม.) มีคำถามใหม่ คือ ประชาชน สังคม ประเทศชาติ จะได้อะไรจากกระทรวง (พม.) ซึ่งคำบรรยายไม่สำคัญเท่ากับผลสัมฤทธิ์ที่จะมอบให้พี่น้องประชาชน ด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ การทำงานให้กระชับ ด้วยเป้าหมายชัดเจน รวดเร็ว และทันใจ นับเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำและสามารถจับต้องได้ อาทิ พื้นฐานความต้องการของมนุษย์ ได้แก่ ความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย อาชีพ อาหาร การศึกษา และการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งกระทรวง (พม.) เป็นกระทรวงแรกที่ใช้สมุดพกครัวเรือนสำหรับกลุ่มเปราะบางทั่วประเทศ และพื้นฐานความสุขของประชาชน โดยระยะเวลา 18 เดือนที่ผ่านมา กระทรวง (พม.) ได้หยิบยื่นโอกาสให้กับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่น เจ้าหน้าที่กระทรวง (พม.) ได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้เห็นปัญหาอุปสรรค

 

เราจึงเข้าไปช่วยสร้างโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านั้น ด้วยการปรับจากการพึ่งพามาสู่ความพอเพียง และความยั่งยืน ดังนั้น ตนหวังว่าปีที่ 21 ของกระทรวง (พม.) จะเป็นกระทรวงที่สามารถทำงานหนักกว่าเดิมในการพัฒนาทุนมนุษย์ที่อยู่ในระดับสูงต่อไป ดังนั้น งานของกระทรวง (พม.) ไม่มีวันจบ เพราะทุกอย่างเป็นวงจรเหมือนหนูถีบจักร และทำงานปิดทองหลังพระที่ไม่มีใครเห็น แต่ความสุขอยู่ที่ใจที่ได้จากการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย

นายจุติฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ อยากฝากปลัดกระทรวง พม. ผู้บริหาร และเพื่อนร่วมงานทุกท่านว่า เรามีเรื่องต้องทำอีกมาก แต่อุปสรรคที่เราต้องทำคือ การผ่าตัดระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่ล้าสมัย ที่เป็นอุปสรรคของงาน เพื่อประโยชน์ของประชาชน อีกทั้งการใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารงาน ติดตามประเมินผล และสนับสนุนให้ประชาชนได้รับความสุขที่เข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และการสร้างโอกาสต่อเนื่อง อาทิ การสร้างงานเล็กๆ ในวันนี้ จะเป็นงานที่ใหญ่ในวันข้างหน้า ทั้งนี้ เป้าหมายคือเราต้องสร้างมืออาชีพในทุกกลุ่มเป้าหมาย นั่นคือเป้าหมายที่กระทรวง พม. จะต้องทำในปีที่ 21 และปีต่อๆ ไป และขอแสดงความยินดีต่อความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ซึ่งความสำเร็จเป็นเพราะคน (พม.) ทุกคน และหากปราศจาก (อพม.) หลายแสนคน งานของกระทรวง (พม.) จะไม่ประสบความสำเร็จ

 

สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดสังคม

เรื่องล่าสุด