ดีเดย์ “จุรินทร์” นำ Mini-FTA เชื่อมการค้าไทย-เกาหลี ยึดหัวหาด “คยองกี เมืองเศรษฐกิจอันดับ 1” ดันพัฒนาสินค้าเอสเอ็มอี สู่ตลาดโลก
วันที่ 28 กันยายน 2565 เวลา 10.30 น.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กับบริษัท Gyeonggi Business and Science Accelerator (GBSA) เมืองคยองกี สาธารณรัฐเกาหลี พร้อมด้วยนายมุน ซึง-ฮยอน (H.E. Mr. Moon Seoung-Hyun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย นายกีรติ รัชโน รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่ ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การจัดทำ Mini-FTA ถือเป็นนโยบายที่ตนได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์ สร้างความสัมพันธ์ในอีกรูปแบบทางการค้า การลงทุน นอกเหนือจากรูปแบบ FTA ปัจจุบันนี้ไทยมี FTA 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ และ Mini-FTA เป็นนโยบายส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า ลดอุปสรรคและหาลู่ทางใหม่ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างผู้ลงนามทั้ง 2 ฝ่าย โดยปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ มี Mini-FTA กับเมืองและรัฐสำคัญในโลก 5 ฉบับ เริ่มที่ ไห่หนานของจีน รัฐเตลังคานาของอินเดีย เมืองโคฟุของญี่ปุ่น กานซู่ของจีน และปูซานของเกาหลี ฉบับนี้ที่ทำกับ GBSA จะเป็นฉบับที่ 6 และกระทรวงพาณิชย์ยังมีเป้าหมายอีกหลายรัฐและหลายมณฑลทั่วโลกต่อไป
“เมืองคยองกีถือเป็นเมืองที่มีจีดีพีสูงที่สุดของประเทศเกาหลีใต้ และเป็นซิลิคอนวัลเลย์ของเกาหลี มีการพัฒนาไอทีส่งเสริมเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม Mini-FTA ไทย-คยองกี จะมีส่วนช่วยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของ 2 ประเทศ โดยเฉพาะช่วย SMEs ของทั้งสองประเทศต่อไป มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับคยองกีปี 2564 มีมูลค่าการค้ารวม 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 65 นี้ 7 เดือนแรก มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกันระหว่างไทยกับคยองกี 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ Mini-FTA ระหว่าง 2 ฝ่ายในวันนี้นอกจากเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันแล้ว ประการสำคัญคือ จะร่วมกันพัฒนาสินค้าจากผู้ประกอบการ SMEs เพื่อขยายการค้า 2 ประเทศสู่ประเทศที่ 3 ต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว
นายมุน ซึง-ฮยอน (H.E. Mr. Moon Seoung-Hyun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย กล่าวว่า ตนได้อ่านหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศไทยซึ่งน่าภูมิใจเป็นอย่างมาก และได้มีการเซ็น MOU กับเมืองปูซานด้วย ซึ่งพัฒนาการค้าระหว่าง 2 ประเทศเกิดผลอย่างมากมาย ตนเล็งเห็นว่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ยังมีโอกาสอีกมากที่จะขยายและเติบโต จึงมีงานจัดจึงมีการจัดงาน G-FAIR KOREA 2022 (Korea Sourcing Fair in Bangkok) เกิดขึ้น ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศไทยและเกาหลีเติบโตไปด้วยกัน และจังหวัดคยองกีเป็นจุดศูนย์กลางของบริษัทใหญ่ ๆ ทั้ง Samsung และบริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และมีการทำซอฟพาวเวอร์ พัฒนาเศรษฐกิจ จัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งสองประเทศร่วมกัน และตนมีความประทับใจในโครงการ Mini-FTA เป็นพิเศษ ตนเห็นว่าเราสามารถปรับโครงการนี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจไทย-เกาหลีได้เป็นอย่างดี และมี RCEP อีก ซึ่งตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการนำแนวทาง Mini-FTA ร่วมกับ RCEP กระตุ้นเศรษฐกิจของสองประเทศไปร่วมกัน
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ความร่วมมือ Mini-FTA ไทย-คยองกี นับเป็น Mini-FTA ฉบับที่ 2 ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จัดทำกับหน่วยงานท้องถิ่นของสาธารณรัฐเกาหลี ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเปิดประตูการค้าด้วยสินค้า บริการ และซอฟพาวเวอร์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการบุกตลาดสาธารณรัฐเกาหลี เร่งรัดสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าเชิงรุก เพื่อขยายการค้าของไทยไปยังตลาดโลกในทุกรูปแบบ
โดยเฉพาะความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรทั้งเมืองหลักและเมืองรองที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงและเร่งผลักดันการส่งออกสินค้าทุกรูปแบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยก้าวสู่การค้าสากลได้อย่างยั่งยืนต่อไป โดยภายในงานมีนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และนายอี แก-ยอล (Mr. Lee Gae-Youl) Head of Global Trade Department and Executive Director, GBSA เป็นผู้ลงนามฝ่ายเกาหลี โดยหน่วยงาน Gyeonggido Business & Science Accelerator หรือ GBSA จังหวัดคยองกี สาธารณรัฐเกาหลี เป็นหน่วยงานภายใต้รัฐบาลจังหวัดคยองกี เพื่อส่งเสริมด้านเศรษฐกิจการค้าและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ของจังหวัดคยองกี