สช. MOU ร่วมกับสภาการพยาบาล และสมาคมโรงเรียนบริบาล มุ่งส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนบริบาลนำไปสู่การสร้าง และผลิตผู้เรียนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานของวิชาชีพ
วันที่ 23 กันยายน 2565 : ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) ร่วมลงนามลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สภาการพยาบาล และสมาคมโรงเรียนบริบาล ณ สภาการพยาบาล อาคารนครินทรศรี ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล และ ดร.สุภาวดี ดวงศิร นายกสมาคมโรงเรียนบริบาล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โดยมี ดร.ประยูร หรั่งทรัพย์ รองเลขาธิการ (กช.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชุลีพร เชาวน์เมธากิจ ที่ปรึกษาประจำสภาการพยาบาลร่วมเป็นพยาน และมีผู้แทนโรงเรียนบริบาล 4 ภาคเข้าร่วมในพิธีดังกล่าว
ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ กล่าวตอนหนึ่งในพิธีลงนามว่า ในนามสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนขอขอบคุณ นายกสภาการพยาบาล และนายกสมาคมโรงเรียนบริบาลในความร่วมมือลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างสภาการพยาบาล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสมาคมโรงเรียนบริบาลในวันนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นและนิมิตหมายอันดีที่องค์กรภาคีเครือข่ายการศึกษาเอกชนนอกระบบ ทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนในการผนึกกำลังพร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ในการที่จะร่วมมือกันส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนนอกระบบ (โรงเรียนบริบาล) เพื่อให้นำหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแลไปจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ และมาตรฐานตามข้อบังคับสภาการพยาบาล นำไปสู่การสร้างและผลิตผู้เรียนที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานของวิชาชีพ และส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการต่อกันอันเกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ภายใต้บริบทของประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนหลายมิติ การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานจะเป็นการนำไปสู่การส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงเรียนเอกชนนอกระบบผลิตและพัฒนากำลังคนที่ตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมทั้งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ไปสู่เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาคนในทุกมิติ เพื่อให้คนไทยมีความพร้อมในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และเป็นกำลังแรงงานคุณภาพ ที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงนามความร่วมมือฯ ครั้งนี้ จะเป็นการพัฒนา ต่อยอดการผลิต และพัฒนากำลังคนคุณภาพ เพื่อพัฒนาคนไทยและประเทศชาติต่อไปในอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ กล่าวด้วยว่า ขอบเขตความร่วมมือของ “สภาการพยาบาล” นั้นจะพิจารณาหลักสูตรและความพร้อมของโรงเรียนบริบาลที่ใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล (Certificate Program for Nurses’ aides/Caregivers) ของสภาการพยาบาลให้การรับรองหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล (Certificate Program for Nurses’ aides/Caregivers) จัดทำฐานข้อมูลผู้เข้ารับการอบรม ผู้สำเร็จการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล (Certificate Program for Nurses’ aides/Caregivers) เพื่อประโยชน์ในการกำกับ ส่งเสริมคุณภาพผู้สำเร็จการอบรมอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมความร่วมมือพัฒนาคุณภาพโรงเรียนบริบาลที่จัดอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล (Certificate Program for Nurses’ aides/Caregivers) ให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน
ด้าน ดร.สุภาวดี ดวงศิริ นายกสมาคมโรงเรียนบริบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอบคุณ ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการ กช. และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาลที่ท่านได้ให้ความสำคัญพร้อมทั้งให้ความร่วมมือในการพัฒนาโรงเรียนบริบาลในครั้งนี้ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ทางด้านโรงเรียนบริบาลจะได้ร่วมส่งเสริมความร่วมมือในการขับเคลื่อนโรงเรียนนอกระบบ (โรงเรียนบริบาล) ให้ได้รับการรับรองหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล (Certificate Program for Nurses’ aides/Caregivers) 510 ชั่วโมง ของสภาการพยาบาล สนับสนุนให้โรงเรียนนอกระบบ (โรงเรียนบริบาล) นำหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล (Certificate Program for Nurses’ aides/Caregivers) 510 ชั่วโมง ไปใช้จัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ ตามมาตรฐานสมรรถนะอาชีพของพนักงานให้การดูแลที่สภาการพยาบาลกำหนด พร้อมทั้งจะประชาสัมพันธ์ และร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมอาชีพที่ก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป
สำหรับเจตนารมณ์ในการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ จะดำเนินไปโดยอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สภาการพยาบาล และสมาคมโรงเรียนบริบาล โดยทั้ง 3 ฝ่ายมีเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกันส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพ การศึกษาโรงเรียนนอกระบบ (โรงเรียนบริบาล) เพื่อให้โรงเรียนนำหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล ไปจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานตามข้อบังคับสภาการพยาบาล นำไปสู่การสร้างผู้เรียนที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานของวิชาชีพ และอื่นๆ ตามที่ได้มีการตกลงร่วมกัน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน