ศธ.จับมือ ธ.ออมสิน Kick off มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู “ปิดเทอม เรื่องหนี้ มีทางออก” จ.กำแพงเพชร เปิดเวทีเจรจาแก้หนี้ครูร่วมกัน
วันที่ 16 กันยายน 2565 : นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับธนาคารออมสิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู “ปิดเทอม เรื่องหนี้ มีทางออก” เพื่อเป็นเวทีกลางในเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยจะเริ่ม Kick-off ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร วันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2565 นี้ ก่อนจะขยายผลเพื่อจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครูในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
“เป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่ ศธ.ต้องการช่วยเหลือคุณครูเพื่อปลดภาระหนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับครู โดยนายสถานีแก้หนี้ทุกพื้นที่จะเป็นคนกลางหลักในการประสานเจ้าหนี้เพื่อมาเจรจาร่วมกัน โดยในครั้งนี้ ทางธนาคารออมสินพร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ดังนั้นอยากให้นายสถานีแก้หนี้ทุกพื้นที่เตรียมความพร้อมของตนเอง เพื่อจัดเวทีกลางในการเจรจาช่วยเหลือเพื่อนครูด้วยกัน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าว
นางสาวตรีนุชฯ กล่าวต่อว่า กิจกรรม “ปิดเทอม เรื่องหนี้ มีทางออก” เป็นมาตรการเร่งด่วนภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งธนาคารออมสิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ในการช่วยเหลือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนและมีหนี้สินวิกฤต ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับรายงาน พบว่า ธนาคารออมสินมีลูกหนี้ที่เป็นคุณครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่ผิดนัดชำระหนี้ มีคดีพิพาท หรืออยู่ในระหว่างการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จำนวน 6,331 ราย และหากรวมผู้ค้ำประกันด้วย จะมีจำนวนมากถึง 20,000 ราย ดังนั้น เพื่อให้ครูเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือ
กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องเปิดโอกาสให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ได้มีเวทีช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ย เจรจา ปรึกษา ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อหาข้อยุติการบังคับคดีและแก้ไขปัญหาหนี้สินร่วมกัน ทั้งนี้จะขยายโอกาสในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ครู ร่วมกับสถาบันการเงินต่างๆ ที่เป็นเจ้าหนี้ของครู มาร่วมกิจกรรมอีกด้วย ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จะได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้สินแบบครบวงจรโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ
สำหรับการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู “ปิดเทอม เรื่องหนี้ มีทางออก” ในวันอังคารที่ 4 ตุลาคม นี้ ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องของการจัดงาน มีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย
1) กลุ่มลูกหนี้ของธนาคารออมสินกลุ่มที่มีคดีพิพาทก่อนฟ้องและหลังศาลมีคำพิพากษา ซึ่งมีจำนวน 39 ราย และผู้ค้ำประกัน จำนวน 76 ราย
2) กลุ่มครูที่ลงทะเบียน โครงการแก้ปัญหาหนี้สินครู “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” รอบที่ 1 และ
3) กลุ่มครูที่มีปัญหาหนี้ขั้นวิกฤติที่ต้องการเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ หรือขอคำปรึกษาหาทางออก โดยผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ธนาคารออมสิน สถาบันการเงินในจังหวัด และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดกำแพงเพชรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน