เดินหน้าปี 4 เซลล์แมนประเทศ! “จุรินทร์” เร่งเครื่องส่งออกสินค้า สั่งทูตพาณิชย์ทั่วโลกปรับแผน “รุก-ลึก” เจาะตลาด พร้อมดัน 345 กิจกรรมส่งเสริมขาย คาดทำเงินเข้าประเทศเพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท ช่วงท้ายปี
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังการประชุมสรุปแผนผลักดันการส่งออกเชิงรุกและเชิงลึก ครึ่งปีหลัง 2565 พร้อมด้วยนายกีรติ รัชโน รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ คณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และ ตัวแทนภาคเอกชน ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 ตึกสำนักงานปลัด กระทรวงพาณิชย์ และผ่านระบบ VDO Conference กับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.)
นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมทูตพาณิชย์จากทั่วโลก ซึ่งมีทั้งหมด 42 ประเทศ 58 สำนักงาน ร่วมกับภาคเอกชนและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อปรับแผนงานในการเพิ่มตัวเลขส่งออกไปทำรายได้ให้กับประเทศให้มากขึ้น แม้ว่าต้องเผชิญกับปัญหาเช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก ทั้งสงครามการค้า โควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาจีนกับไต้หวันเพิ่มเติมขึ้นมา ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของผู้ค้าของเราชะลอตัว บางประเทศมีแนวโน้มติดลบ รวมทั้งปัญหาการขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินและระบบการขนส่งสินค้าก็ตาม
สำหรับการทำรายได้ให้ประเทศในเรื่องการส่งออกยังเป็นไปด้วยดีปี ที่แล้วสามารถทำเงินให้กับประเทศถึง 8.5 ล้านล้านบาท เป็นบวกถึง 17.1% และปี 65 ตั้งเป้าจะทำเงินให้กับประเทศถึง 9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4% แต่ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค.ทำเงินให้ประเทศแล้ว 5.774 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเกินเป้าที่ 4% เป็น 11.5% ตนได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์รวมทั้งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและภาคเอกชน รวมทั้งทูตพาณิชย์ของเราจากทั่วโลกปรับแผน เพื่อทำเงินให้ได้มากกว่านี้โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง ได้มอบนโยบายจัดทำแผนทั้งเชิงรุกและเชิงลึก เพื่อทำรายได้จากการส่งออกให้ได้มากที่สุด ซึ่งทูตพาณิชย์จากทุกประเทศ ได้จัดทำแผนร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและภาคเอกชน ทำแผนงานที่มีความชัดเจน จากเดิมกำหนดไว้กิจกรรมในปี 2565 ไว้ที่ 185 กิจกรรม เดินหน้าให้ได้ตัวเลขส่งออก 9 ล้านล้านบาท แผนใหม่ปรับเป็น 530 กิจกรรม มีกิจกรรมใหม่เพิ่มขึ้นอีก 345 กิจกรรม เพื่อทำตัวเลขครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้นกว่าเป้าเดิมที่ทำไว้ ซึ่ง 345 กิจกรรม ทั้งกิจกรรมเชิงรุกและเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็น เร่งรัด Mini-FTA ส่งเสริมการค้าระบบออนไลน์ การจับคู่เจรจาธุรกิจ การนำซอฟพาวเวอร์ใส่สินค้าและบริการของไทย การให้ความสำคัญกับ BCG การเร่งรัดการเดินหน้าตามนโยบาย รักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่และฟื้นตลาดเก่า
โดยมีมาตรการรายละเอียดเพิ่มเติมชัดเจนในการเจาะตลาดใหม่มีรูปแบบชัดเจนคือ การเจาะตลาดเมืองรอง จากที่เน้นการเจาะเมืองหลักในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตลาดเมืองรองมีเป้าหมายชัดเจนจะเจาะทั้งหมดใน 36 ประเทศ 105 เมือง และเจาะตลาดสินค้าชนิดใหม่เพิ่มเติม เช่น ซาอุดีอาระเบียที่ตนนำคณะไปเจรจา จะเน้นสินค้าก่อสร้างและการให้บริการด้านการก่อสร้าง ซึ่งซาอุดีอาระเบีย มีนโยบายสร้างเมืองใหม่และตลาดเฟอร์นิเจอร์ ตลาดสินค้าฮาลาล สำหรับตลาดจีนที่มณฑลกานซู่ มีมุสลิมจำนวนมาก หรืออาหารสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นดาวเด่นในการส่งออกช่วงปีที่ผ่านมา จะมุ่งเน้นตลาดยุโรป เป็นต้น
มีการกำหนดเป้าหมายตัวเลขชัดเจน เฉพาะครึ่งปีหลัง นอกจากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้รวมทั้งปี 9 ล้านล้านบาท จะทำเงินให้ประเทศเพิ่มจากการส่งออกอีกไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะทำงานร่วมกับเอกชนภายใต้หลักคิด “รัฐหนุน เอกชนนำ” ต่อไป ร่วมกับทีมเซลล์แมนประเทศทั่วโลกดำเนินแผนงาน
“และภาคเอกชนได้ขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งวงคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเร่งรัดตัวเลขส่งออกและการแก้ปัญหาการส่งออก รูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดอันหนึ่งคือ ในช่วงที่ผ่านมาเราได้ช่วยกันแก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนและค่าระวางเรือมีราคาสูงมาก วันนี้เอกชนรายงานให้ทราบว่าสามารถร่วมมือกันแก้ปัญหาคอนเทนเนอร์ขาดแคลน เฉพาะ 6 เดือนแรกของปีนี้ ตู้คอนเทนเนอร์มีให้ใช้ส่งออกได้เพิ่มขึ้นถึง 12% และค่าระวางเรือปรับลดลงจาก 15,000 ถึง 20,000 เหรียญสหรัฐลดลงมาเหลือ 7000 ถึง 10,000 เหรียญสหรัฐ ลดลงมาประมาณ 50% ทำให้ตัวเลขส่งออกของเราคล่องตัวขึ้น และการเปิดโอกาสให้เรือใหญ่มาเทียบท่าที่แหลมฉบังได้ มีส่วนช่วยเสริมให้มีพื้นที่เหลือ ส่งออกได้มากขึ้น โดยความร่วมมือจากกรมเจ้าท่าออกประกาศให้เรือใหญ่เทียบท่าได้ตั้งแต่ 9 ก.พ.64 มีอายุ 2 ปี ซึ่งที่ประชุมจะขอความร่วมมือจากกรมเจ้าท่าต่ออายุไปอีก จะมีส่วนช่วยให้การส่งของเราคล่องตัวขึ้น จะมีพื้นที่เรือขนสินค้าไทยไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว