“พาณิชย์” เผย เงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับทรงตัว และมีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะชะลอตัวลง
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนสิงหาคม 2565 เท่ากับ 107.46 ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมาซึ่งเท่ากับ 107.41 โดยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาฯ เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.05 (MoM) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดัชนีราคาฯ ค่อนข้างต่ำ (เท่ากับ 99.63) ทำให้อัตราเงินเฟ้อของสิงหาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 7.86 (YoY) ซึ่งขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งสูงขึ้นร้อยละ 7.61 และคาดว่าเงินเฟ้อของไทยน่าจะถึงจุดสูงสุดแล้ว เหตุผลเนื่องจากในช่วงระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา การขึ้นของเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน หรืออย่างน้อยอัตราเงินเฟ้อ จะทรงตัว นอกจากนี้ เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจการค้าอื่น ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นราคาพลังงานที่เติบโตถึงร้อยละ 30.50 (YoY) แม้ราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์จะปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งและต้นทุนการผลิตที่สำคัญยังคงสูงขึ้น รวมทั้งค่าบริการ อาทิ ค่าโดยสารสาธารณะ และค่าการศึกษาที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 6.83 (YoY) สำหรับสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เติบโตร้อยละ 9.35 (YoY) โดยเฉพาะผักสด (พริกสด ต้นหอม ผักคะน้า) ราคาปรับสูงขึ้นเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในหลายจังหวัด รวมทั้ง เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป ราคาปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่ง นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และฐานดัชนีราคาฯ ที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อในเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในทางเทคนิคสำหรับเงินเฟ้อในเดือนนี้
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ปรับลดลง อาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เสื้อและกางเกงบุรุษ น้ำยารีดผ้า น้ำยาถูพื้น เครื่องใช้ไฟฟ้า (เตารีด เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) และเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก อยู่ที่ร้อยละ 3.15 (YoY)
ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.05 (MoM) เป็นอัตราการขยายตัวที่น้อยมาก เนื่องจากราคาสินค้าส่วนใหญ่ทยอยปรับขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ผักสดบางชนิด (ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาว) ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง และไข่ไก่ ขณะที่ ข้าวสารเจ้า น้ำมันพืช หน้ากากอนามัย แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันเบนซิน ราคาลดลง และดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 6.14 (AoA)
หากประเมินสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นการทยอยปรับราคาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ขึ้นราคาสินค้าในทุกหมวดพร้อมกันในทันที เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค และสร้างความสมดุลระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยที่คาดว่าราคาสินค้าและบริการจากนี้ไปจะเริ่มทรงตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายลดภาระค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์ที่ร่วมกับภาคเอกชน ในการบริหารจัดการราคาสินค้าและบริการภายใต้ “วิน-วิน โมเดล” เมื่อพิจารณาเงินเฟ้อของไทยเทียบกับต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อของไทย เดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 7.61 (YoY) อยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยสูงเป็นอันดับที่ 85 จาก 127 ประเทศที่มีการประกาศตัวเลข (ข้อมูลจาก TradingEconomics ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2565) ยังดีกว่าหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร (ก.ค. 65 ร้อยละ 10.1) บราซิล (ก.ค. 65 ร้อยละ 10.07) และสเปน (ส.ค. 65 ร้อยละ 10.4)
อย่างไรก็ตาม อาจเกิดปัจจัยเสี่ยงที่นอกเหนือจากสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ราคาพลังงานดีดตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติ และค่าไฟฟ้า ส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งและการผลิตสินค้า รวมทั้งความรุนแรงของอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ สนค. ได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการว่า การขึ้นราคาสินค้าและบริการของบริษัทต่างชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย อิงตามอัตราเงินเฟ้อของประเทศต้นทาง เช่น อัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 อิงจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งสูงขึ้นร้อยละ 8.5 (YoY) เป็นต้น โดยบางบริษัทปรับราคาเพิ่มขึ้นแล้วตามบริษัทแม่ และบางบริษัทจะปรับราคาในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งเป็นนโยบายการปรับราคาของบริษัทแม่ที่จะใช้กับบริษัทในเครือทั่วโลก ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อของไทย
ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนสิงหาคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 10.7 (YoY) เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามต้นทุนการผลิต ทั้งราคาวัตถุดิบ พลังงาน และบรรจุภัณฑ์ ที่ทยอยปรับสูงขึ้น ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 0.9 (MoM) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามการลดลงของสินค้าสำคัญ อาทิ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว ที่ร้อยละ 5.2 (YoY) จากต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และเงินบาทที่อ่อนค่า เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับการใช้วัสดุก่อสร้างในโครงการก่อสร้างภาครัฐเป็นไปตามแผน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลงร้อยละ 0.4 (MoM) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ลดลงตามราคาในตลาดโลก อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ (ยางมะตอย)
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.3 จากระดับ 45.5 ในเดือนก่อนหน้า ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 2 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.6 จากระดับ 51.9 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 และอยู่ระดับสูงสุดในรอบปี 2565 ปัจจัยหลักมาจากประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติ ภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวนและมาตรการของภาครัฐซึ่งมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ยังคงเป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
*****************************
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
กระทรวงพาณิชย์
5 กันยายน 2565